ไพบูลย์ เดินหน้าติดตามตัวผู้ต้องหา ม.112 ในต่างประเทศ

ไพบูลย์ เดินหน้าติดตามตัวผู้ต้องหา ม.112 ในต่างประเทศ

จนถึงวันนี้รัฐบาล คสช.ยังคงใช้ความพยายามอย่างหนักในการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาและผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้พบปะกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยการหารือดังกล่าวถือว่าเป็นการใช้วิธีการทางการฑูต หรือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ด้วยความคาดหวังที่ว่าฝรั่งเศสจะมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทยว่าผู้ที่หลบหนีคดีไปกลบดานอยู่ในฝรั่งเศสไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองแต่เป็นบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในสถานะประมุขของประเทศเพราะฉะนั้นก็ต้องมาจับตาดูว่าผลของการใช้วิธีทางการทูตครั้งนี้ของกระทรวงยุติธรรมกับประเทศฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จหรือไม่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นี้ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ตีแยรี วีโต หัวข้อสำคัญคือการประสานให้ฝรั่งเศสติดตาม 3 ผู้ต้องหาที่ทำความผิดมาตรา 112 ที่หลบหนีคดีไปพำนักในฝรั่งเศสกลับมาดำเนินคดีในไทย ได้แก่ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำ นปช. นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พล.อ.ไพบูลย์ พร้อมทำหนังสือฉบับใหม่ที่อธิบายความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักกฎหมายของฝรั่งเศส เพื่อส่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสอีกครั้ง เนื้อหายังจะอยู่ในกรอบของความผิดมาตรา 112 แต่จะเน้นพฤติกรรมของคนเหล่านี้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันยุยงปลุกปั่นจนเกิดความวุ่นวายภายในประเทศและมีผู้เสียชีวิต

แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานเกี่ยวสถานการณ์ล่าสุดและต้องการให้นำตัวคนเหล่านี้กลับมาดำเนินคดีในไทยขณะที่รัฐบาลในยุค คสช.ยังอยู่ในอำนาจ เพราะเกรงว่าถ้าคดีเหล่านี้ยืดเยื้อไปถึงการเลือกตั้งก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งการเมืองขึ้นมาอีกในอนาคต

หลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 

โดยพล.อ.ไพบูลย์ระบุว่า ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าคณะทำงานตามกลุ่มภารกิจ ซึ่งขณะนี้ได้แยกบัญชีเฝ้าระวังเป็น 5 บัญชี


1 กลุ่มที่ไม่มีหมายจับเคลื่อนไหวในต่างประเทศ
2 กลุ่มที่มีหมายจับเคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ
3 กลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเทศไทย
4 กลุ่มเฝ้าระวัง รวมทั้งสิ้น 135 ราย
และ 5 กลุ่มแนวร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินจำนวนและพฤติการณ์การกระทำผิดลักษณะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายหรือขบวนการเคลื่อนไหวกระทำความผิดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งฝ่ายปราบปรามประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และหน่วยงานความมั่นคงจะทำหน้าที่กำหนดกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายต้องเฝ้าระวังและติดตาม ทั้งนี้ในส่วนอัยการมีการรายงานความคืบหน้าของคดี เนื่องจากมีบางรายที่อาจใช้คดีความผิดอาญาอื่นเพื่อนำไปสู่การขอให้ส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ โดยหลังจากนี้อัยการจะตรวจสอบรายละเอียดความผิดคดีอาญาอื่นว่ามีคดีใดบ้าง และมีจำนวนกี่คน

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงหลักกฎหมายของประเทศต่างๆที่ไม่มีความผิดในคดี 112 จึงไม่ได้คาดหวังเรื่องการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่มีความจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับต่างประเทศ เนื่องจากผู้ต้องหามักอ้างว่ากระทำความผิดในคดีการเมือง ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพราะความผิดตาม ม.112 ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นแก้ปัญหาคดีความมั่นคง ทำให้มีการขยายความเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างหน่วยงาน โดยจะดึงความร่วมมือจากกองอำนวยการรักษาความมั่งคงในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) 1-4 และตำรวจภูธรทั่วประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลกับกองทัพแล้ว

สำหรับผู้ต้องหาตามหมายจับที่เข้าไปพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ อาทิ นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายเสน่ห์ ถิ่นแสน หรือเพียงดิน นายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน นายริชาร์ด สายสมร นายจุติเทพ (เลอพงษ์) วิไชยคำมาตย์ หรือโจ กอร์ดอน นายองอาจ ธนกมลนันท์ นายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นายเอกภาพ เหลือรา หรือตั้ง อาซีวะ นายอิมิลิเอ เอสเทแบ นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ นายพิษณุ พรหมศร นายจักรภพ เพ็ญแข นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายศรัญ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสร หรือสุรชัย แซ่ด่าน นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจเบียร์ นายวัฒน์ วรรลยางกูร นายพุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือชีพ ชูชัย นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล นายพิพัฒน์ พรรณสุวรรณ นายนิธิวัต วรรณศิริ นายธกฤ โยนกนาคพันธุ์ นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง นายไตรรงค์ สินสืบวงศ์ นางสุดา รังกุพันธ์ หรืออาจารย์หวาน และ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

การเดินหน้าของพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนี่ไม่ใช่การขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนด้วยวิธีการธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการใช้วิธีทางการทูตโดยเน้นไปที่การอธิบายและการทำความเข้าใจกับประเทศปลายทาง

ซึ่งยังแม้ไม่มีอะไรการันตีว่าประเทศปลายทางจะยอมทำตามคำร้องของของไทยหรือไม่ สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ฝรั่งเศสจะปฏิเสธคำร้องขอของคณะรัฐประหาร เนื่องจากปารีสไม่มีกฎหมายเทียบเคียงและอาจมองว่ามันละเมิดประเด็นสิทธิการแสดงออก


เชื่อว่าทั้ง 3 คนได้หลบหนีไปยังฝรั่งเศส หลังจากเหล่านายพลผู้ภักดีต่อสถาบันก่อรัฐประหารเข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม 2014 ทั้งนี้ทางการไทยไม่ได้เปิดเผยชื่อผู้ถูกกล่าวหาเหล่านั้น แต่เอเอฟพีอ้างสื่อมวลชนไทยระบุว่า 3 คนดังกล่าวได้แก่ นายศรัณย์ นายจรัล และนายสมศักดิ์ ขณะที่ล่าสุดสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ยังไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ แต่เมื่อเดือนที่แล้ว บีบีซีไทย เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายศรันย์ ที่ยืนยันว่าทั้ง 3 คน ได้รับอนุมัติคำขอลี้ภัยทางการเมืองในฝรั่งเศส

ขณะที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพตส์เฟซบุ๊คส่วนตัว ท้าทายให้แลกเปลี่ยนกับกรณ๊ให้ตัวเองกลับประเทศไทยมารับโทษมาตรา 112 และให้ คสช.ทุกคนเข้าคุกข้อหากบฏ

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็ได้กล่าวถึงกรณีการแบ่งผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯตามมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ออกเป็น 5 กลุ่ม ว่า ตำรวจ ไม่ได้ดูแลกลุ่มไหนเป็นพิเศษ เพราะ รับผิดชอบในการสอบสวน ต้องดูแลทุกคดีในภาพรวม กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แบ่ง ผู้ต้องหาออกเป็น 5 กลุ่ม เป็นเรื่องของ นโยบาย แบ่งลักษณะงานหรือคดีออกไป เพื่อให้รับผิดชอบ ส่วนด้านตำรวจต้องดำเนินการในทุกคดี เพราะเป็นพนักงานสอบสวน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องคดีอาญาต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์หารือกับทูตฝรั่งเศสถึงการนำตัวผู้ต้องหาตามมาตรา 112 กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยว่าจะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องคำนึงก่อนว่าประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศนั้นหรือไม่ และประเทศนั้นมีความผิดเช่นในมาตรา 112 หรือไม่ ถ้าหากไม่มีก็ไม่สามารถส่งตัว ผู้ต้องหาให้ได้ แต่เป็นความพยายามของฝ่ายกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม อัยการ และกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องดำเนินการ แต่การจะได้รับการสนองตอบในการปฏิบัติต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายและเอกสิทธิ์ของประเทศนั้น

ขณะที่ผู้ต้องหาแต่ละคนที่หลบหนีไปต่างประเทศและยังไม่เคยได้ตัว คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการพูดคุยถึงมาตรการหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำตัวผู้ต้องหากลับมา แต่การสนองตอบเป็นเรื่องของประเทศที่บุคคลเหล่านั้นไปพำนักอยู่ กรณีประเทศเหล่านั้นไม่มีกฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ ผู้กระทำความผิดในมาตรา 112 เช่น นายอเนก ซานฟราน นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ และนายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ จึงเลือกจะไปหลบหนีในประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่มาตรา 112 จึงทำให้การติดตามตัวเป็นไปค่อนข้างยาก

ไม่ว่าท้ายที่สุดความพยายามของ พล.อ.ไพบูลย์ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่กระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและเอาจริงเอาจังในการติดตามตัวผู้ต้องหาและผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังคงหลบหนีคดีในต่างประเทศ

 


ขอบคุณ tnews.co.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์