รัฐบาลรักษาการอียิปต์ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพ
ออกมาแสดงความรับผิดชอบ พร้อมชี้แจงความจำเป็นต้องสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี เพื่อความสงบสุขของประเทศ โดยยอดเสียชีวิตเพิ่มกว่า 500 ศพ นับเป็นเหตุรุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการประท้วงในอียิปต์ปี 2554
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลรักษาการอียิปต์
ออกโรงปกป้องภารกิจของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี โดยยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการทำให้ประเทศสงบสุข โดยนายฮาเซ็ม เบบลาวี นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อวันพุธ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือน อาจยกเลิกได้ก่อนกำหนด หากสถานการณ์คืนสู่สภาวะปกติด้วยความรวดเร็ว
มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยอียิปต์ระบุ ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 525 ศพ ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวเสียชีวิตด้วย 3 ศพ บาดเจ็บกว่า 3,500 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงไคโร
ขณะเดียวกัน พรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งสนับสนุนนายมอร์ซี ประกาศเดินหน้าโค่นล้มรัฐประหาร จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
โดยจะยึดการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ทั้งนี้ พรรคภราดรภาพมุสลิมระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีถึง 2,000 คน และบาดเจ็บกว่า 10,000 คน เหตุรุนแรงครั้งนี้ ทำให้นายโมฮัมเหม็ด อัลบาราเด ยื่นลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี
เหตุการณ์นองเลือดในอียิปต์ครั้งนี้ ทำให้นานาชาติออกมาประณามรัฐบาลรักษาการณ์ที่ใช้ความรุนแรง
โดยนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามเหตุปราบปรามผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐ อังกฤศ สหภาพยุโรป รวมถึงอิหร่าน กาตาร์และตุรกีออกมาตำหนิการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมของรัฐบาลอียิปต์ ส่วนสหรัฐตำหนิถึงการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
ด้านกระทรวงต่างประเทศของไทย โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ
เปิดเผยว่า คนไทยและนักเรียนไทยในอียิปต์ยังปลอดภัย กระทรวงพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกคนหลังมีนักเรียนไทยบางส่วนเริ่มแจ้งความประสงค์กลับประเทศไปยังสมาคมนักเรียนไทยในไคโร เพราะเกรงสถานการณ์จะรุนแรงต่อเนื่อง โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร มีแนวปฏิบัติในการประสานดูแลคนไทย ซึ่งจะประเมินสถานการณ์แต่ละวัน หากเกิดเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นสามารถดำเนินการได้ทันที แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดที่จะต้องวางแผนอพยพ เพราะส่วนใหญ่คนไทยไม่ได้พักอาศัยอยู่ในเขตรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มีการแจ้งให้นายกสมาคมนักเรียนไทยในไคโรในพระบรมราชูปถัมภ์
และแกนนำคนไทยในพื้นที่ต่างๆ กำชับนักศึกษาไทยและคนไทยในอียิปต์ให้อยู่ในเคหะสถาน พร้อมแจ้งเตือนคนไทยหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังพื้นที่ 9 จุดอย่างเคร่งครัด สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางไปอียิปต์ขอให้ตรวจสอบสถานการณ์อย่างละเอียด จากสถานเอกอัครราชทูตฯได้ที่หมายเลข 0101 9401243
สำหรับเส้นทางอันตราย ห้ามคนไทยเข้าไปในบริเวณที่มีการปะทะระหว่างรัฐบาลอียิปต์กับกลุ่มผู้ชุมนุม
ประกอบด้วย 1.ถนน Autostrad (จาก Nasr City ไปจนถึงสนามบิน) 2.ถนน Bahr Aazam, Giza 3.สะพาน El Gamaa, Giza 4.สะพาน 6th October 5.สะพาน15th May 6.สะพาน Kasr el Nile 7.ถนน Salah Salem, Heliopolis 8.ถนน Marghani, Heliopolis และ 9.จัตุรัส 7 Omarat, Heliopolis