แอร์เที่ยวบินมรณะเผยนักบินสั่งอพยพผู้โดยสารช้าเกินไป

แอร์เที่ยวบินมรณะเผยนักบินสั่งอพยพผู้โดยสารช้าเกินไป

นางสาวลี ยุน-เฮ หัวหน้าพนักงานต้อนรับเที่ยวบินที่ 214 ของ "เอเชียนา แอร์ไลน์ส" ซึ่งตกกระแทกรันเวย์ที่สนามบินซานฟรานซิสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ เผยนักบินสั่งอพยพผู้โดยสารช้าเกินไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ถึงความคืบหน้าของการสืบสวนสาเหตุของเครื่องบินสายการบิน "เอเชียนา แอร์ไลน์ส" ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว โดยทีมสืบสวนได้ข้อมูลเพิ่มว่า นักบินไม่ได้สั่งให้มีการอพยพผู้โดยสาร ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ และมีการตั้งระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ หรือ "ออโต้ไพล็อต" ในหลายช่วง


นางเดบอราห์ เฮอร์สแมน ประธานคณะกรรมการสอบสวนความปลอดภัยทางการขนส่งแห่งชาติ ( เอ็นทีเอสบี )
 
แถลงว่า ผลการสอบสวนพนักงานต้อนรับ 6 คน จาก 12 คน ซึ่งประจำการอยู่บนเที่ยวบิน โอแซท 214 ของเอเชียนา แอร์ไลน์ส ที่ประสบอุบัติเหตุตกกระแทกทางวิ่ง ( รันเวย์ ) สนามบินซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และบาดเจ็บอีกราว 180 คน กล่าวตรงกันว่า  ทันทีที่ตัวเครื่องกระแทกรันเวย์ จนหางและเครื่องยนต์ส่วนท้ายหลุดไปคนละทาง นางสาวลี ยุน-เฮ หัวหน้าพนักงานต้อนรับพยายามแจ้งให้นักบินเปิดสัญญาณอพยพฉุกเฉิน ทว่าต้องรอนานถึง 90 วินาที กว่านักบินจะออกคำสั่งให้มีการอพยพผู้โดยสาร
 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้เฮอร์สแมนคิดว่า นักบินทั้ง 4 คนอาจไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะมองเห็นเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ด้านนอกได้ถนัดนัก

เนื่องจากห้องนักบินอยู่ส่วนหน้าสุดของเครื่อง และสัญชาติญาณของนักบินส่วนใหญ่คือ ต้องควบคุมเครื่องบินต่อไปให้ถึงที่สุด แต่กระนั้นเธอยืนยันว่า จะไม่ละประเด็นในส่วนนี้แน่นอน รวมถึงจำนวนครั้งในการตั้งออโต้ไพล็อตด้วย


นอกจากนี้ พนักงานต้อนรับคนหนึ่งกล่าวด้วยว่า สะพานยางสูบลมสำหรับอพยพผู้โดยสาร 2 เส้นพองขึ้นมาภายในห้องโดยสาร
 
ทำให้พนักงานต้อนรับต้องเสียเวลาช่วยกันหยุดการพองลมของอุปกรณ์ และพยายามขนย้ายสะพานยางให้หันออกไปด้านนอกตัวเครื่อง กว่าจะอพยพผู้โดยสารได้ ซึ่งเฮอร์สแมนยังไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่า เพราะเหตุใดสะพานยางจึงพองขึ้นมาภายในห้องโดยสาร
 

สำหรับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของเอ็นทีเอสบีเกี่ยวกับการกระแทกรันเวย์ของเครื่องบิน มี 2 ประการ

ประการแรก คือนักบินใช้ความเร็วต่ำเกินไปในการนำเครื่องลงจอด และกัปตันของเที่ยวบินนี้ มีประสบการณ์บินกับเครื่องบินโบอิ้งตระกูล "777" เพียง 43 ชั่วโมง ทั้งนี้ เที่ยวบินที่เกิดอุบัติเหตุใช้เครื่องบินโดยสารของโบอิ้ง รุ่น "777-200 อีอาร์"


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์