พระวิหารเข้มข้น เขมรโต้ปลอมแผนที่ วีรชัยนำแถลงปิดคดี19เม.ย.นี้ นัมฮงลั่นสัมพันธ์2ชาติ เดินต่อ
ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงการชี้แจงด้วยวาจาของฝ่ายไทย และกัมพูชา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก กรณีกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรับรองให้กับคณะผู้แทนจากไทยและกัมพูชา
"วีรชัย"ปลื้มทีมปล่อยอาวุธได้ดี
นาย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความไทย แถลงข่าวหลังทีมทนายความฝ่ายไทยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกว่า "ถือว่าทุกคนทำได้ตามแผนที่วางไว้ ได้ปล่อยอาวุธตามที่ได้วางแผนมาเป็นปีโดยปรับให้เข้ากับการออกอาวุธของ กัมพูชาก่อนหน้านี้ ที่ว่ามาเป็นเพียงการพูดให้เห็นภาพเท่านั้น เพราะความจริงสองประเทศก็รักกัน หลังออกจากศาลก็ยังกอดกัน ไปร่วมงานเลี้ยงที่ประธานศาลจัดก็จับไม้จับมือกันบรรยากาศเป็นไปด้วยดี
"รู้สึก พอใจ เพราะเราวางแผนเรื่องของแผนที่มานาน 3 ปีแล้ว ค้นและศึกษาข้อมูลจากที่ต่างๆ ในโลกอย่างคร่ำเคร่งและละเอียด สิ่งที่ออกมาใช้เวลาเป็นปีไม่ใช่ชั่วข้ามคืน ขณะที่ น.ส.อลินา มิรอง ทนายความสาวชาวโรมาเนีย เป็นคนที่ผมไว้วางใจว่าเขาทำได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์การพูดในศาลโลกมาก่อนก็ตาม" นายวีรชัยกล่าว
"เขา เป็นคนมีความสามารถมาก ผมมองว่าเขามีแวว มีอนาคต และสนใจที่ทำงานนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรก ผมยอมรับว่ามีความเสี่ยง แต่คนเราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเชื่อว่าดี เราก็ต้องยอมเสี่ยง ผมมั่นใจเพราะผมกับเธออยู่กับแผนที่มา 3 ปีแล้ว และมีผู้เชี่ยวชาญแผนที่อีก 2 คน ยอมรับว่าเป็นนักแผนที่ที่เก่งที่สุดในโลก ผลงานของเธอผมไม่ผิดหวัง ผมให้คะแนนเต็ม" นายวีรชัยกล่าว
ทนายเขมรโต้ปมแผนที่
ต่อ มาเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 20.00 น. ตามเวลาไทย) ผู้พิพากษาปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลกพร้อมองค์คณะผู้พิพากษา ขึ้นนั่งบัลลังก์ รับฟังถ้อยแถลงปิดการให้การด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา โดย ศ.ร็อดแมน บุนดี ทนายตัวแทนกัมพูชาขึ้นกล่าวโต้ข้อแย้งของฝ่ายไทย ในประเด็นที่ว่า ฝ่ายกัมพูชาได้ยอมรับการล้อมรั้วตามเส้นมติ ครม.เมื่อปี 2505 โดยไม่โต้แย้ง กับประเด็นเรื่องแผนที่ที่ฝ่ายไทยนำมาแสดงเพื่อจำกัดพื้นที่ในคำพิพากษาใน คดีแรกเริ่ม ซึ่งนำเสนอโดย น.ส.อลินา มิรอง ทนายผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของทางฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา
ศ.บุ นดีกล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชานำเสนอหลักฐานจำนวนมากว่า กัมพูชามีปัญหาเรื่องการตีความเนื่องจากการล้อมรั้วลวดหนามตามเส้นสีแดงตาม มติ ครม.ของไทยเมื่อปี 2505 เส้นดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผนที่ที่ศาลตัดสินเมื่อปี 2505 ตามแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่ง ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทยพูดถึงนั้นเป็นการเลือกหยิบเอาเหตุการณ์บางอย่างมาโดยไม่ได้ ดูบริบท โดยอ้างว่ากัมพูชาเห็นชอบกับไทยในเรื่องคำพิพากษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จริง เพราะจุดเริ่มต้นข้อพิพาทคือที่ ครม.ไทยมีมติเมื่อปี 2505 ที่ว่าบริเวณปราสาทพระวิหารคือเส้นสีแดง ซึ่ง ศ.แปลเล่ต์ไม่ได้พูดถึงข้อเสนอของเส้นสีเหลือง โดยเส้นแดงเป็นเส้นที่ลากตามสันปันน้ำตามมติ ครม.ไทย แต่ที่กัมพูชาเห็นว่าเส้นแดงไม่ใช่เส้นแบ่งเขตแดน
ย้ำเขมรท้วงเส้นสีแดงไทย
ศ.บุ นดีกล่าวว่า ในส่วนแผนที่ แอล 7017 แสดงบริเวณปราสาทพระวิหารมีเส้นที่เป็นไปตามเส้นแดงตามมติ ครม. ที่ไทยกล่าวว่าเป็นเพียงเส้นแบ่งเขตแดน แต่ไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล ที่อ้างอิงแผนที่ภาคผนวก 1 สิ่งที่ ศ.แปลเล่ต์พูดไว้ เรื่องเส้นแบ่งเขตแดนปี 2505 สอดคล้องกับเส้นสันปันน้ำ สอดคล้องกับคำพิพากษา เห็นได้ชัดว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นแบ่งเขตแดนบริเวณพระวิหาร ศาลพูดไว้ชัดเจนในคำพิพากษา เส้นสันปันน้ำที่ ศ.แปลเล่ต์อ้างอิงถึง ไม่ใช่สิ่งที่กัมพูชาอ้าง โดยศาลไม่ได้พิจารณาเรื่องสันปันน้ำ เพราะไม่เกี่ยวกับสถานภาพของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ไทยอยากจะให้กัมพูชาเห็นด้วยกับเส้นสีแดง
ยัน"สีหนุ"ประท้วงรั้วไทย
ศ.บุ นดีกล่าวว่า ที่ ศ.แปลเล่ต์กล่าวว่า ปี 2505 รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาพูดในที่ประชุมสหประชาชาติยอมรับว่าไทยปฏิบัติตาม คำพิพากษาแล้วนั้น เป็นการอ้างเพียงส่วนหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้ว รัฐมนตรีได้ยกว่าไทยควรจะกระทำในลักษณะฉันมิตรระหว่าง 2 ประเทศให้ฟื้นคืนมา แต่ไทยกลับหลอกลวงและเข้ามายึดครองบริเวณปราสาท ไม่ใช่แค่เพียง 2-3 วัน แต่อยู่ในช่วงปี 2503 ใช้รั้วลวดหนามมายืนยัน ทำให้กัมพูชาประท้วงเสมอมา และไทยไม่ได้ถอนกำลังออกจากเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1
ทนายฝ่ายกัมพูชา กล่าวว่า การที่สมเด็จฯสีหนุเสด็จไปเยี่ยมตรงนั้น ตามเอกสารระบุว่า รั้วรุกล้ำเพียง 2-3 เมตร และไม่มีความสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือบริบทของการไปเยี่ยมของสมเด็จฯสีหนุ โดย 4 เดือนก่อนหน้านั้น สมเด็จฯสีหนุ ได้ประท้วงเรื่องรั้วลวดหนามนี้ และเดือนพฤศจิกายน 2505 กัสซิน ตัวแทนของสหประชาชาติ พูดถึงข้อวิตกกังวลเรื่องที่สมเด็จฯ
สีหนุจะไปเยี่ยมอาจทำให้เกิด ปัญหา และว่าภารกิจคือการทำให้ไทยเข้าใจว่าทหารไทยต้องไม่รบกวนหรือแทรกแซงการ เยี่ยม ตราบที่สมเด็จสีหนุฯ ยังอยู่ในเขตกัมพูชาที่กำหนดโดยรั้ว ที่จริงๆ แล้ว คำพิพากษา 2505 ไม่ได้เป็นไปตามรั้ว แต่นัยยะคือจะเป็นปัญหาหากสมเด็จสีหนุฯ พยายามจะข้ามรั้ว การเยี่ยมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2506 ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และสมเด็จสีหนุฯไม่ได้ติดใจอะไรในเรื่องนี้
ต่างจากกรณีกรมพระยาดำรงฯ
ศ.บุ นดีกล่าวว่า สิ่งที่พบในภาคผนวก 6 คือรายงานที่ผิดพลาดที่ว่าสมเด็จฯสีหนุพูดตอนไปเยี่ยมพระวิหารว่า เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สมเด็จสีหนุฯเห็นว่าไทยถอนกำลังทหารออกจากพระวิหารแล้ว แต่ทำรั้วไว้ และยังรุกล้ำดินแดนกัมพูชาโดยละเมิดคำพิพากษา ซึ่งประมุขกัมพูชายอมรับนั้น เหมือนไทยอ้างฝ่ายเดียวเรื่องการตีความ โดย ศ.แปลเล่ต์พยายามพูดว่าการเยือนของสมเด็จฯสีหนุ เหมือนกับการเยือนของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองเหตุการณ์ต่างกัน
ทนายความฝ่ายกัมพูชากล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นสมเด็จฯสีหนุ เองได้ประท้วงหลายครั้ง แต่ไทยไม่ยอมรับ คือในปี 2508, 2509, 2510 และ 2511 นอกเหนือจากการประท้วงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา และให้ศาลดูหลักฐานของการประท้วงของกัมพูชาที่ได้ให้ไว้ว่ามีการประท้วงหลาย ครั้ง หลังปี 2512 มีเขมรแดงเข้ามา ก็ไม่มีใครเข้าไปทำอะไรกับปราสาท แม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าในปี 2533 ไทยก็ไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้พูดถึงเส้น ครม. แสดงว่า กัมพูชาก็ไม่ได้รับในช่วงนั้นเช่นกัน ช่วงปี 2533 กัมพูชาสร้างวัดแก้วฯ มีชาวกัมพูชาเข้าไปอยู่ ไทยก็ไม่ได้ประท้วง กระทั่งปี 2543 ก็ไม่ได้พูดเรื่องเส้นแดงตามมติ ครม. ปี 2544 ไทยถึงพูดเรื่องมลภาวะบริเวณปราสาท แต่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษา ศ.แปลเล่ต์บอกว่า ไทยปิดทางเข้า เพราะกัมพูชามีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ความจริงก็คือไทยปิดเพราะคนไทยบ่นเรื่องมลภาวะ
ปัดปลอมแผนที่-ซัดไทยลบเส้น
ศ.บุ นดีกล่าวว่า ข้อพิพาทนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2550 เมื่อไทยทำแผนที่ แอล 7017 ขึ้นมาเอง แสดงให้เห็นเส้นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ และเดือนกรกฎาคม 2551 กัมพูชาปฏิเสธว่าไม่สอดคล้องกับ แผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งกัมพูชามองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะมีแผนที่ใหม่ของไทยเกิดขึ้น
ศ.บุ นดีกล่าวถึงเรื่องพยายามใช้แผนที่ต่างๆ บริเวณปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่พันธกรณีที่จะถอนทหาร ที่ น.ส.มิรอง ทนายของไทยระบุว่า แผนที่นี้เป็นการนำเอาส่วนหนึ่งของพื้นที่ตรงปราสาท ที่จริงแล้วไม่ใช่ข้อสนับสนุนอะไรเลย คำพิพากษาได้พูดถึงบริเวณปราสาท ไม่ใช่ตัวปราสาท พื้นที่ที่ไทยอ้างเรื่องเส้นสันปันน้ำนั้น ศาลไม่ได้ใช้เลย
"กัมพูชาขอปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการปลอมแปลงแผนที่ตามที่ทนายมิ รองกล่าวอ้าง แผนที่ใหญ่นั้นมีเส้นอยู่ในแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ภาพที่นำมาฉายโดยฝ่ายไทยนั้น ได้ลบเส้นนั้นออกไป จะเห็นได้จากแผนที่ที่นำมาเสนอนี้ ขอบเขตที่เป็นดินแดนพิพาทกันอยู่ตามที่อีบรู ผู้เชี่ยวชาญของไทยอ้างว่า หลักฐานการนำเสนอต่อศาล ที่ทำโดยนายเชอมาฮอล (ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ฝ่ายไทยในคดีปี 2505) ในเขตบริเวณรอบปราสาท ทนายไทยพยายามลดทอนบริเวณปราสาทลง" ศ.บุนดีกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หลังจากฝ่ายกัมพูชาแถลงปิดคดีแล้ว ทีมทนายฝ่ายไทยได้ประชุมหารือกันเพื่อเตรียมที่แถลงปิดคดีหักล้างข้อมูลของ กัมพูชาในวันที่ 19 เมษายน ที่นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย
ไทยไม่ท้วงสร้างวัดแก้วเอง
ต่อ มา ศ.ฌอง มาร์ค ซอเรล ทนายฝ่ายกัมพูชา ให้การเป็นลำดับที่ 3 กล่าวว่า เราไม่รู้ว่าทางกฎหมายแล้ว รัฐสามารถกำหนดเขตแดนโดยไม่ขอความคิดเห็นหรือความร่วมมือจากเพื่อนบ้านได้ อย่างไร เห็นได้ชัดว่าไทยหงุดหงิดกับคำพิพากษาศาล คนไทยยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ ไทยหมกมุ่นกับการบรรยายว่าไม่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดน เขตแดน ที่คุณมิรองพูด ไม่มีเรื่องการปักปันเขตแดน มีแต่แผนที่ซึ่งไม่เกี่ยวกัน แผนที่ที่มิรองนำเสนอมีหลากหลาย แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องพื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาทเลย
ทนายฝ่าย กัมพูชากล่าวว่า ตัวแทนฝ่ายไทยบอกว่า เอ็มโอยู ปี 2543 มีการลงนามหลังจากมีการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนไทย หลังจากมีการสร้างวัดแก้วฯแล้ว แต่ไทยก็ไม่ได้ประท้วง ขณะที่แผนที่แอล 7017 เป็นเอกสารของไทยที่ไทยทำขึ้นเองเพียงฝ่ายเดียว กัมพูชาใช้สิทธิของธรรมนูญศาลในการขอให้ตีความเรื่องข้อบทปฏิบัติการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พิพากษาไปแล้ว ศาลจะต้องทบทวนว่ามีอะไรเกิดขึ้น คู่ความไม่ยอมรับเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลไม่ได้พูดถึงเส้นสันปันน้ำในตอนนั้น จะต้องอ่าน 2 ส่วนพร้อมกัน แต่ไทยบอกว่าต้องแยกกัน ศาลต้องตัดสินใจว่าเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ที่ใด
"นัมฮง"ย้ำไม่ตีความไร้สันติ
สุด ท้ายนายฮอ นัมฮง รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวปิดการให้การในฐานะตัวแทนของฝ่ายกัมพูชา ว่าอยากเน้นย้ำถึงความสำคัญที่กัมพูชาต้องการให้ศาลตัดสินเรื่องความ สัมพันธ์สองประเทศ เป็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค เนื่องจากเห็นว่าศาลมีบทบาทในการทำให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพ ถ้าไม่มีการตีความคำพิพากษา ปี 2505 สถานการณ์ที่ตามมาอาจจะไม่สามารถทำให้เพื่อนบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
นาย ฮอ นัมฮงกล่าวว่า กัมพูชาเองเห็นว่าการตีความบริเวณปราสาท ยึดตามแผนที่ภาคผนวก 1 และอยากให้ดูคำขอที่แตกต่างที่แสดงไว้ทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษร ที่สองฝ่ายต่างนำเสนอต่อศาล แสดงให้เห็นความขัดแย้งเรื่องความหมายของคู่ความมีความเห็นที่ต่างกันใน เรื่องคำพิพากษา 2505 มีข้อพิพาทเรื่องการตีความในวรรคแรกและวรรคที่ 2
หลัง จากนั้นผู้พิพากษาทอมกา กล่าวปิดการพิจารณา โดยกำหนดให้ฝ่ายไทยแถลงปิดการให้การด้วยวาจาระหว่างเวลา 15.00-17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 20.00-22.00 น. ตามเวลาของไทย) วันที่ 19 เมษายน โดยตัวแทนของฝ่ายไทยใช้เวลาทั้งคืน เพื่อเตรียมถ้อยแถลงสำหรับตอบโต้และปิดการแถลงด้วยวาจาเป็นการย้ำประเด็นให้ ศาลเห็นพ้องในที่สุด
เชื่อไม่กระทบสัมพันธ์2ปท.
ต่อ มานายนัมฮงให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลว่า คำพิพากษาในปี 2505 มีสองส่วน คือส่วนที่เป็นเหตุผลกับส่วนที่เป็นบทปฏิบัติการ ถ้าจะอ้างอิงตามบทปฏิบัติการ ปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา หากจะถามว่า "บริเวณใกล้เคียง" ปราสาทอยู่ที่ใดก็ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วในแผนที่ภาคผนวก 1 ส่วนที่เป็นเหตุผลของคำพิพากษา ศาลพูดชัดเจนแล้วว่าทั้งสองฝ่ายได้ยอมรับว่ามีเส้นเขตแดนระหว่างสองชาติอยู่ แล้ว
เมื่อถามว่ามั่นใจแค่ไหนว่าจะชนะคดี นายนัมฮงกล่าวว่า มั่นใจว่าศาลจะพิจารณาในทุกแง่มุมทางกฎหมายที่เรานำเสนอต่อศาล เมื่อถามอีกว่าบริเวณใกล้เคียงที่ผู้พิพากษาขอให้ชี้แจงเพิ่มเติมตามความ เข้าใจของกัมพูชาคือจุดใด นายนัมฮงกล่าวว่า ประเทศไทยนำแผนที่มาอ้างอิงหลายชุด แต่ในปี 2505 ศาลโลกได้ตัดสินคดีบนพื้นฐานของแผนที่ภาคผนวก 1
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลคำตัดสินของศาลจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์สองประเทศในอนาคตหรือไม่ นายนัมฮงกล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรก็จะไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยจะต้องดำเนินต่อไป
ไทยไม่หนักใจ-หักล้างอีกรอบ
ขณะ ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่า กัมพูชาพยายามหักล้างการชี้แจงของไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน เช่น เรื่องแผนที่ ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเรื่องเส้นมติ ครม.ของไทยด้วยการอ้างว่าเราทำขึ้นมาฝ่ายเดียว โดยฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับและประท้วงมาตลอดและต้องการให้ศาลตีความคำตัดสิน เมื่อปี 2505 ซึ่งทีมทนายของเราต้องยืนยันว่าสิ่งที่ศาลตัดสินนั้นจบไปแล้ว ฝ่ายไทยยืนยันว่าเส้นในแผนที่ตามภาคผนวก 1 เป็นเพียงตัวที่บอกว่าปราสาทอยู่ตรงไหน แต่ฝ่ายกัมพูชากำลังบอกว่าเป็นสิ่งที่บอกถึงเส้นเขตแดน
ผู้สื่อข่าว ถามกรณีที่กัมพูชายกแผนที่ซึ่งเราอ้างครั้งก่อนมาตีแผ่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า เป็นสิ่งฝ่ายที่เขายืนยันอย่างนั้น สิ่งที่ฝ่ายเขาตีความกับฝ่ายเรานั้นเห็นต่างกันเรื่องพื้นที่ใกล้เคียง
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กัมพูชามีจุดยืนเดิม เรื่องความเห็นที่แตกต่าง เป็นความเห็นแย้งของพื้นที่โดยรอบปราสาท เขาอ้างเหมือนเดิมว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นสิ่งที่บอกว่ากองกำลังไทยต้องถอนออกไปตรงไหน เราพยายามอ้างว่าแผนที่ไม่ใช่ตัวหลักที่เป็นเหตุผลในการตัดสิน ส่วนกัมพูชาพยายามชี้ว่าเหตุผลอื่นๆ เป็นเหตุผลรอง
ผู้สื่อข่าวถาม ว่ารู้สึกหนักใจหรือไม่เรื่องที่กัมพูชานำหลักฐานมาหักล้างเรื่องแผนที่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ไม่หนักใจ เรื่องแผนที่ที่ตัดออกมาบางส่วนเป็นส่วนเล็กๆ เขาพยายามอ้างจุดเดิมเรื่อง 4.6 ตร.กม. ทนายเราต้องพยายามหาเหตุผลหักล้างอีกครั้ง