ฮ่องกงจับยึดงาช้างเกือบ 4 ตัน

ฮ่องกงจับยึดงาช้างเกือบ 4 ตัน


ศุลกากรฮ่องกงจับยึดงาช้างน้ำหนักเกือบ 4 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ส่งจากเคนยาและแทนซาเนียในแอฟริกา นับเป็นการจับกุมงาช้างล็อตใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา

วันนี้ (20 ต.ค.) สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยศุลกากรฮ่องกงยึดจับกุมงาช้างลักลอบนำเข้าจากทวีปแอฟริกา จำนวน 1,209 ชิ้น รวมน้ำหนัก 3.81ตัน มูลค่า 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 105 ล้านบาท) พร้อมกับจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 7 คน โดยการจับกุมสินค้าต้องห้ามขนส่งทางเรือของศุลกากรฮ่องกงครั้งนี้ ได้รับเบาะแสจากเจ้าหน้าที่ของมณฑลกวางตุ้ง บนแผ่นดินใหญ่จีน ที่มีอาณาเขตติดกัน

รายงานระบุว่า การจับกุมครั้งแรกงาช้างดิบเกือบ 1,000 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 1,900 กก. รวมทั้งงาช้างแกะสลักเป็นเครื่องประดับ 1.4 กก. ถูกตรวจพบในตู้คอนเทนเนอร์ เรือขนส่งสินค้าจากประเทศแทนซาเนีย โดยงาช้างเหล่านี้ถูกซุกซ่อนในถุงบรรจุขยะพลาสติก และต่อมา หน่วยศุลกากรฮ่องกงพบงาช้างอีก 237 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 1,900 กก. ซุกซ่อนในตู้คอนเทนเนอร์ เรือสินค้าจากประเทศเคนยา เจ้าหน้าที่จีนจับกุมผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการได้ 7 คน รวมถึงชาวฮ่องกงด้วย 1 คน  มูลค่าของกลางงาช้างที่ฮ่องกงยึดได้ในครั้งนี้ ทำลายสถิติสูงสุดเดิม 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554  

ภายใต้กฎหมายเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ผู้ที่มีความผิดฐานนำเข้าสินค้าที่ไม่สำแดงหรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และปรับไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 8 ล้านบาท) นอกจากนั้น ผู้ที่มีความผิดฐานนำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง พืชหรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า ต้องถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (10 ล้านบาท)

การค้างาช้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อยกเว้นที่น้อยมาก กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เมื่อประชากรช้างในทวีปแอฟริกา ลดลงอย่างน่าตกใจจากหลายล้านตัวในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหลือประมาณ 600,000 ตัวช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2523

อย่างไรก็ตาม ขบวนการลักลอบค้างาช้างข้ามชาติกลับเฟื่องฟู จากความต้องการในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งงาช้างถูกใช้เป็นทั้งยาแผนโบราณ และเป็นเครื่องประดับ จากการประเมินขององค์การระหว่างประเทศ ในปัจจุบันทวีปแอฟริกามีประชากรช้างเหลือยู่ประมาณ 472,000 ตัว ความอยู่รอดของพวกมันถูกคุกคามจากการลักลอบล่าของมนุษย์ เนื่องจากงาช้างของแท้ในตลาดมืดมีราคาสูงมาก.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์