วันที่ 16 ส.ค. เว็บไซต์ “เดอะ เดลีเมลล์” ของอังกฤษ รายงานว่า
นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียเผยการค้นพบอันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับรอยสักบนร่างของมัมมี่เจ้าหญิงไซบีเรีย อายุกว่า 2,500 ปี ซึ่งอาจช่วยในการค้นคว้าด้านอารยธรรม และความเป็นมาของชนเผ่า “ปาซิริก” ตามประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ที่บันทึกเรื่องนี้ไว้เมื่อช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศกราช
น.ส. นาตาเลีย โปโลสแม็ก หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งค้นพบมัมมี่ของเจ้าหญิง “อูก็อก” ที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในเทือกเขาอัลไต กล่าวว่า
น่าประหลาดใจมาก ที่รอยสักบนร่างของมัมมี่ยังคงสภาพสมบูรณ์เกือบ 100% แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 2,000 ปี โดยจากผลการศึกษา และรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นทางประวัติศาสตร์พบว่า เจ้าหญิงอูก๊อก ผู้สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 25 ปี ทรงได้รับการเทิดทูนเสมือนสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้น มัมมี่ของพระองค์ทรงถูกฝังอยู่ แวดล้อมด้วยมัมมี่ราชองครักษ์ 2 นาย และม้าอีก 6 ตัว เสมือนตัวแทนนำทางพระองค์เดินทางไปยังโลกหน้าได้อย่างสงบสุข นอกจากนี้ ยังมีข้างของเครื่องใช้จากทั้งขนสัตว์ ไม้ ทองแดง และทองคำ ถูกฝังอยู่รายรอบเช่นกัน
ทั้งนี้ รอยสักตามพระวรกายของเจ้าหญิงนั้น ส่วนใหญ่เป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย อาทิ กริฟฟอน ( สัตว์คล้ายสิงโต ที่มีศีรษะ และปีกเหมือนนกอินทรี ) และมังกร โดยอยู่ตามพระอังสา ( ไหล่ ) ทั้งสองข้าง และพระเพลา ( ขา ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คนปัจจุบันนิยมสักมากที่สุด
ดร.โปโลสแม็ก คาดว่า ชาวปาริซิก อาจมีความเชื่อว่า รอยสักบนร่างกายจะติดตัวไป
และเป็นสัญลักษณ์ช่วยให้คนในครอบครัว หรือเชื้อสายเดียวกัน สามารถจำกันได้ เมื่อเดินทางไปเกิดใหม่ยังโลกหน้าแล้ว และยังอาจสื่อถึงการแบ่งวรรณะทางสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งเธอและทีมงานจะศึกษา และวิเคราะห์เรื่องนี้โดยละเอียดต่อไป ว่ามีความสัมพันธ์กับแนวคิดการสักตามร่างกายในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด
ปัจจุบัน มัมมี่ของเจ้าหญิงอูก๊อก ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และนำออกแสดงต่อสาธารณชนแล้วที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติในกรุงกอร์โน-อัลไตสค์ สาธารณรัฐปกครองตนเองอัลไต.