เอพีรายงานเมื่อ 19 เม.ย. ว่า สมาคมเอเชีย หรือ เอเชีย โซไซตี องค์กรไม่หวังผลกำไรในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เปิดผลสำรวจสถานะผู้หญิงในภูมิภาคเอเชีย ว่า ไทยและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูงทั้งภาคเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดในภูมิภาค คือมีถึงร้อยละ 39 รองลงมาคือจีนมีร้อยละ 25 อินเดียร้อยละ 14 ส่วนญี่ปุ่น มหาอำนาจของภูมิภาคกลับรั้งอันดับสุดท้ายมีผู้นำหญิงเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ศาสตราจารย์แอทริด เอส. ตูมิเนซ จากโรงเรียนนโยบายสาธารณะลีกวนยูของสิงคโปร์ ผู้รวบรวมรายงาน กล่าวว่า
แม้ว่าผู้หญิงจะมีสถานะต่างๆ ที่หลากหลายในแต่ละประเทศ แต่ช่องว่างระหว่างรายได้ชายกับหญิง มีผู้หญิงเอเชีย 2,000 ล้านคนได้ค่าจ้างและเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายที่มีหน้าที่การงานใกล้เคียงกัน ประเทศที่มีช่องว่างระหว่างรายได้ห่างมากที่สุด คือ เกาหลีใต้ ถัดมาเป็นเนปาล บังกลาเทศ จีนและญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่มีความแตกต่างของรายได้ชาย-หญิงน้อยที่สุดได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ มองโกเลีย และไทย แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงทั่วโลกได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย มากถึงร้อยละ 20-30
ขณะที่ภาพรวมชี้ว่าช่องว่างระหว่างเพศแคบลงมาก และผู้หญิงมีบทบาทความเป็นผู้นำแข็งแกร่งที่สุดในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและมองโกเลีย ส่วนประเทศที่มีผู้นำหญิงน้อยที่สุด ได้แก่ ปากีสถาน เนปาล อินเดีย เกาหลีใต้และกัมพูชา
ถึงแม้เอเชียจะมีจำนวนผู้นำหญิงมากที่สุดในโลก และปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นผู้นำถึง 4 ประเทศ
แต่หลายแห่งยังยึดติดธรรมเนียมนิยมลูกชายมากกว่าลูกสาวทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่ก่อนเกิด พ่อแม่เลือกเพศลูก ทำแท้งลูกสาว เช่น จีน และอินเดีย ด้วยอคติดังกล่าวทำให้เด็กหญิงไม่ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการและการศึกษา
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวดูทั้งด้านสุขอนามัย การศึกษา กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาวะผู้นำทางการเมือง โดยรวบรวมข้อมูลสถิติจากที่ประชุมเศรษฐกิจโลกและหลายแหล่งมาวิเคราะห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียได้รับผลประโยชน์จากความสามารถของมนุษย์อย่างเต็มที่