ยุโรปเข้มงวดติดฉลากอาหารอินทรีย์

ยุโรปเข้มงวดติดฉลากอาหารอินทรีย์

ยุโรปเข้มงวดการติดฉลากอาหารอินทรีย์ อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มในปีนี้ อินเดียคุมเข้มสารปฏิชีวนะในสัตว์ที่ใช้บริโภค อียูอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีก-ไก่สดแช่แข็งจากไทยมีผล 1 ก.ค.นี้

12เม.ย.2555 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 นี้ อาหารอินทรีย์ (Organic Food) ที่บรรจุพร้อมจำหน่ายจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ต้องปฏิบัติตามมาตรการติดฉลากอย่างเคร่งครัด โดยสหภาพยุโรปจะใช้มาตรการที่เข้มงวดกับสินค้าที่ก่อนหน้านี้อนุญาตให้วางจำหน่ายในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553

อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มในปีนี้

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) แจ้งว่าสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตารายงานว่า อินโดนีเซียได้ประมาณการว่า ในปี พ.ศ.2555 Bulog (เป็นองค์การบริหาร เรื่องอาหารแห่งชาติของอินโดนีเซีย)อาจพิจารณานำเข้าข้าวจากต่างประเทศจำนวน 2.25 ล้านตัน

โดยที่ Bulog ไม่สามารถสำรองข้าวภายในประเทศได้ถึง 4.5 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2555 จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2.25 ล้านตัน เนื่องจาก Bulog สามารถจัดซื้อข้าวภายในประเทศได้เพียง 1.8-2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 40 -50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณข้าวสำรอง ในขณะที่ Bulog จำเป็นที่จะต้องสำรองข้าวในปีนี้จำนวน 4.5 ล้านตันเพื่อรักษาระดับราคาข้าวภายในประเทศ รวมทั้งการสำรองข้าวเพื่อสนับสนุนโครงการช่วยเหลือคนยากจนภายในประเทศอินโดนีเซีย


ทั้งนี้สาเหตุที่ Bulog ไม่สามารถจัดซื้อข้าวภายในประเทศเพื่อเป็นการสำรองข้าวให้ถึงจำนวน 3.15 ล้านตัน หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณข้าวสำรอง เนื่องจากราคาข้าวภายในประเทศมีราคาสูงขึ้นทำให้ Bulog ไม่สามารถแข่งขันซื้อข้าวภายในประเทศได้ถึงแม้ว่า ผลผลิตข้าวภายในประเทศพ.ศ.2555 จะมีผลผลิตดีกว่าผลผลิตในปี พ.ศ.2554 แต่ปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นในปี พ.ศ.2555 ไม่สามารถทำให้ราคาข้าวในประเทศต่ำลงได้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยที่ราคาข้าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 สำหรับข้าวคุณภาพปานกลางมีราคา 8,064 รูเปียห์/กิโลกรัม (28.29 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งมีราคาสูงกว่าข้าวในเดือนมกราคม 2555 ที่มีราคา 7,970 รูเปียห์/กิโลกรัม (27.96 บาท/กิโลกรัม) ดังนั้น คาดว่าในปี พ.ศ.2555 นี้ Bloug คงจะมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เป็นจำนวน 2.25 ล้านตัน


อินเดียคุมเข้มสารปฏิชีวนะในสัตว์ที่ใช้บริโภค

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) รายงานว่า อินเดียออกกฎหมายควบคุมสารปฏิชีวนะตกค้างในสัตว์ที่ใช้บริโภค ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้บางส่วนตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียแถลงว่า ข้อกำหนดดังกล่าวบังคับให้ต้องมีระยะทิ้งช่วงของสารปฏิชีวนะก่อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารสำหรับผลิตภัณฑ์ไข่และนมต้องไม่ต่ำกว่า 7 วัน และสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อ รวมถึงไขมันและเครื่องในสัตว์ต้องไม่ต่ำกว่า 28 วัน นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเลยังต้องมีการติดฉลากเพิ่มเติมเพื่อแสดงปริมาณสารปฏิชีวนะตกค้าง

กฎหมายควบคุมดังกล่าวจะช่วยให้อาหารมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาหารกลุ่มดังกล่าวแล้วจะเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้อินเดียได้รับความร่วมมือจากสหภาพยุโรปในการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว

 

อียูอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีก-ไก่สดแช่แข็งจากไทยมีผล1ก.ค.นี้

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่เอกสารระบุ ที่ประชุมคณะกรรมการด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ของประเทศสมาชิกEU มีมติอนุญาตการนำเข้าสัตว์ปีก รวมถึงเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทยหลังสั่งระงับการนำเข้าครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไข้หวัดนกระบาด ซึ่งเมื่อปี 2554 ที่คณะผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานอาหารและอนามัยสัตว์ (Food and Veterinary Office - FVO) กระทรวงสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อตรวจสอบและประเมินการควบคุมสุขภาพสัตว์ปีกในประเทศไทย และลงความเห็นว่า การปรับปรุงการดำเนินการสำหรับการควบคุมอนามัยสัตว์ของไทย ซึ่งมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลัก ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจาก FVO ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง ในปี 2548 และปี 2552

มีรายงานว่า ร่างกฎหมายของ EU ข้างต้นระบุให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประเทศสมาชิก EU สามารถนำเข้า เนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก รวม 4 ประเภท คือ 1) เนื้อสัตว์ปีก 2) เนื้อสัตว์ปีกประเภท ratites ซึ่งเลี้ยงในฟาร์ม อาทิ นกกระจอกเทศ 3) เนื้อสัตว์ปีกประเภท wild game-birds อาทิ ไก่ป่า นกป่า และ 4) ไข่ของสัตว์ปีก ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องแสดงแผนการควบคุมเชื้อซัลโมแนลลาประกอบ ทั้งนี้ คาดว่า กฎหมายดังกล่าวของ EU จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตการนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของ EU ในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่หมักเกลือไปยัง EU ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโควตาที่ไทยได้รับจัดสรร จาก EU จำนวน 92,610 ตัน ตั้งแต่ปี 2549 แต่ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากมาตรการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกสดจากไทยของ EU


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์