การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า ที่มีนางอองซาน ซูจีเข้าร่วม กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ด้านผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในพม่า หวังว่านางอองซาน ซูจี จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
31 มี.ค.55 การเลือกตั้งซ่อมในพม่า กำลังถูกมองว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของการเดินหน้าปฏิรูปการเมืองของพม่า และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนภายใต้การสนับสนุนของกองทัพก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อหนึ่งปีก่อน
ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเลือก สส. เข้าไปนั่งในสภา จำนวน 45 ที่นั่งที่ว่างอยู่ หลังจาก สส. เหล่านี้เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยตามกระทรวงต่าง ๆ และยังเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วย พม่าได้เชิญผู้แทนจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เพียงไม่กี่คน พร้อมด้วยตัวแทนจากสหภาพยุโรป หรือ อียู และสหรัฐ ไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย แต่ผู้สื่อข่าวต่างชาติมากกว่า 100 คน ต่างหลั่งไหลเข้าไปทำข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างคับคั่ง
ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่ นางอองซาน ซูจีได้มีส่วนร่วมในการลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย หลังจากถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักอย่างยาวนาน ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2533 และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของเธอ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าบริหารประเทศ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2553 ก็ถูกบอยคอยจากพรรค NLD โดยระบุว่า การเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ แทนที่รัฐบาลทหาร ดำเนินไปภายใต้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่นางซูจี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 หรือหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปเพียงไม่นาน
อย่างไรก็ตาม นางซูจี กำลังอยู่ระหว่างการหาเสียงที่เขตกอว์มู ซึ่งเป็นเขตชนบทชานนครย่างกุ้ง และเป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในย่างกุ้งและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี 138,000 คน เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นไปได้ว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะส่งให้นางซูจีและลูกพรรค NLD ของเธอ ได้เข้าไปนั่งในสภาฯ และกลายเป็น สส.ฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เกิดขึ้นในช่วงหลังจากพม่าเดินหน้าปฏิรูปที่กำลังจะทำให้ชาติตะวันตกหันมาพัวพันกับพม่าอีกครั้ง รวมถึงผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรด้วย
ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในพม่า หวังว่านางอองซาน ซูจี จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
สำนักข่าวต้างประเทศ รายงานว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในพม่า ที่เตรียมตัวไปลงคะแนนเสียงเลือก สส. 45 คน ในการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ ได้ถูกเรียกว่า เป็นการทดสอบความเปลี่ยนแปลงของขอบเขตการปฎิรูป นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ เมื่อปี 2553
ทั้งนี้ ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า ดำเนินไปอย่างเสรีและยุติธรรม ก็อาจนำไปสู่การสิ้นสุดมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ใช้เป็นบทลงโทษรัฐบาลทหารมายาวนาน พร้อมกับการได้เห็นนางอองซาน ซูจี สัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย และอดีตนักเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างรุนแรง ได้กลายเป็น ส.ส. ที่มาจากจากการเลือกตั้ง และเข้าไปนั่งสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก
รายงานยังระบุว่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเกือบ 50 ปี นางซูจีต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถูกกักบริเวณในบ้านพัก การลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ สร้างความหวังบนเส้นทางการเมืองในวันข้างหน้า ที่เธออาจจะมีโอกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2558
บรรยากาศในเขตเลือกตั้งที่กอว์มู ซึ่งนางซูจี ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นพื้นที่วัฒนธรรมอันลึกซึ้งที่หมู่บ้านวาห์ ธิน ข่า จะมีแต่เสียงสวดมนตร์ดังผ่านเครื่องขยายเสียงของวัด รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับหมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้ามาหลายสิบปี แต่เชื่อว่า ชีวิตของพวกเขาจะพบกับความเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า เมื่อนางซูจี ได้เข้าไปเป็น สส. ในสภาฯ
อีกทั้ง เกษตรกรในย่านนี้ ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองมากนัก พวกเขาสนใจแต่เรื่องปากท้อง แต่พวกเขาก็มีความหวังว่า นางซูจีจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า แต่แม้ว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอจะได้รับเลือกตั้ง ก็ยังเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาฯ
บางคนเกรงว่า การเข้าสู่สภาของนางซูจี อาจสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล โดยที่ตัวเธอได้รับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความน่าเชื่อถือของนางซูจีจะไม่ถูกทำลายแต่ฝ่ายรัฐบาลต่างหากที่เสี่ยงอันตราย ที่ปล่อยให้เธอเข้าสู่สภาฯ เพราะมันอาจนำไปสู่การได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในปี 2558 จึงไม่แปลกที่นางซูจี จะคว้าโอกาสไว้ตั้งแต่ตอนนี้
ด้านนายแอนดรูว์ เฮย์น เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำย่างกุ้ง ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบการปฏิรูป เหมือนการทดสอบกระดาษลิตมัส ที่อาจจะให้ผลที่ตอบสนองเงื่อนไขของประชาคมนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร แต่เส้นทางอาจไม่ราบเรียบ เพราะเมื่อวันศุกร์นางซูจี เพิ่งจะกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อาจพิจารณาได้ว่า เสรีและยุติธรรม เพราะมีการแทรกแซงและข่มขู่ในระหว่างการหาเสียงด้วย