เมื่อ 7 ธ.ค. เดลี่เมล์รายงานผลการศึกษาอันน่าตื่นตะลึงเกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ว่าแท้จริงแล้วสึนามิดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่หายากมาก เนื่องจากมีคลื่นยักษ์ 2 ลูกพัดเสริมกำลังกันก่อนเข้าสู่ชายฝั่ง ซึ่งสร้างหายนะจนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 20,000 ราย
แม้ผลการศึกษายังเป็นเพียงสมมติฐาน แต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อได้ว่า การรวมกันของคลื่นยักษ์สองลูก ถึงจะทำให้เกิดคลื่นสูงกว่า 40 เมตรอย่างที่เห็นในภาพบันทึกจากชายฝั่งจังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น
ทีมงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต กับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา
ใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมของนาซ่าและข้อมูลดาวเทียมของยุโรปเรดาร์ พบว่าลักษณะดังกล่าวเรียกว่าสึนามิผสม ซึ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อปะทะฝั่ง โอกาสจะเกิดคลื่นแบบนี้มียากมาก เพราะโดยทั่วไปคลื่นมักจะแตกตัวและสลายพลังกันเอง แต่คลื่นสองลูกนี้กลับเคลื่อนเข้าปะทะแล้วรวมตัวกลายเป็นคลื่นลูกเดียวที่มีขนาดใหญ่โตกว่าเก่านั่นเอง
โทนี่ ซอง หนึ่งในนักวิจัยของนาซ่า กล่าวว่าโอกาสที่ดาวเทียมจะบันทึกภาพการเกิดคลื่นผสมนั้นยาก อาจจะ 1 ใน 10 ล้านครั้งเท่านั้น
และสึนามิผสมที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ได้แก่สึนามิ เมื่อปี 2503 ในน่านน้ำของชิลี ซึ่งซัดถล่มชายฝั่งของญี่ปุ่นและฮาวาย จนมีผู้เสียชีวิตราว 200 ราย และเป็นครั้งสุดท้ายที่พบคลื่นผสมแบบนี้