ทั่วโลกเฉลิมฉลองที่โลกมีประชากรครบ 7,000 ล้านคนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
โดยมีการจัดงานอย่างหรูสำหรับทารกแรกเกิดคนที่ 7,000 ล้าน ท่ามกลางคำเตือนว่า การที่โลกมีประชากรมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่นักประชากรศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า ช่วงเวลาใดที่ประชากรโลกจะแตะที่ระดับ 7,000 ล้านคน แต่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ใช้วันจันทร์ (31 ต.ค.) เป็นสัญลักษณ์ของวันที่ประชากรโลกครบ 7,000 ล้านคน กระนั้นทั่วโลกก็จัดงานฉลองประชากรครบ 7,000 ล้านคน
โดยการฉลองดังกล่าวเริ่มขึ้นในฟิลิป ปินส์ ซึ่งทารกเพศหญิงชื่อดานิกา เมย์ คามาโช น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม
ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่โรงพยาบาลโฮเซ่ ฟาเบลลา เมโมเรียล ในกรุงมะนิลา แต่เธอเกิดก่อนเที่ยงคืนวันอาทิตย์ 2 นาที อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ทำคลอด ได้เลือกที่จะให้หนูน้อยเกิดวันจันทร์ ทั้งนี้ ทารกได้ของขวัญมากมาย รวมทั้งเค้กช็อกโกแลต ที่มีข้อความ 7บี ฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายถึงประชากรคนที่ 7,000 ล้านของโลกอยู่
ในฟิลิปปินส์ พร้อมได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในประชากรคนที่ 7,000 ล้านของโลก นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงและเงินยังชีพเพื่อให้พ่อแม่ของเธอไปลงทุนเปิดร้านขายของชำ
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่จัดงานฉลองประชากรคนที่ 7,000 ล้านของโลก
เช่น แซมเบีย เวียดนาม รัสเซีย ไอวอรีโคสต์ ปาปัวนิวกินี บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย ลาว และมัลดีฟส์ แต่ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศทารกคนที่ 7,000 ล้าน ขณะที่ นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่า ทารกคนที่ 7,000 ล้านจะเข้าสู่โลกที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในเขตที่มีความยากจน
สหประชาชาติประเมินว่า ประชากรโลกจะแตะที่ระดับ 8,000 ล้านคนในปี 2568 และเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคนในปี 2626
แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่อายุขัย ไปจนถึงการคุมกำเนิด และอัตราการเสียชีวิตของทารก ขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดของโลกกว่า 1,300 ล้านคน รองลงมาเป็นอินเดียที่มีประชากรทะลุหลักพันล้านคนแล้ว.