ในขณะที่โลกกำลังตื่นตระหนกกับพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์และน้ำท่วมใหญ่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างอินเดีย เนปาล และบังกลาเทศ ก็กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งร้ายแรงเช่นกัน โดยเฉพาะในมหานครมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่ถูกมรสุมถล่มเป็นวันที่สอง และเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ก็ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี
ฝนที่ตกหนักในฤดูมรสุม ปริมาณฝน 12.7 ซม. ก่อให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างบริเวณเชิงเขาหิมาลัยในประเทศบังกลาเทศ เนปาล และอินเดีย ตามด้วยดินถล่ม ถนนและเสาไฟฟ้าเสียหาย กระแสน้ำพัดบ้านเรือนกว่าหมื่นหลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายหนัก ถนนในนครมุมไบกลายเป็นแม่น้ำที่มีความลึกระดับเอว และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,200 คน ใน 3 ประเทศ ประชาชนกว่าล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน
นอกจากนี้ น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ยังส่งผลให้โรงเรียน 18,000 แห่งถูกปิด เด็กราว 1.8 ล้านคนไม่มีที่เรียนหนังสือ และอาจส่งผลให้เด็กหลายพันคนต้องเลิกเรียนในโรงเรียนอย่างถาวร หากรัฐไม่ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูระบบการศึกษา ส่วนโรงพยาบาล King Edward Memorial ในมุมไบ ก็มีความกังวลเรื่องผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อจากเชื้อโรคที่แพร่กระจายมากับน้ำ ในขณะสายการบินต่างๆ เปลี่ยนเส้นทางจากท่าอากาศยานมุมไบไปยังท่าอากาศยานอื่น บางสายการบินดีเลย์กว่า 1 ชม.
ภาคธุรกิจหลายแห่งให้พนักงานเลิกงานเร็วกว่าปกติ หลายบริษัทเตรียมเสบียงอาหารและที่พักสำหรับพนักงานที่ติดอยู่ที่ออฟฟิศ วัดต่างๆ บริจาคอาหารให้แก่ผู้คนที่ลุยน้ำบนถนน รวมทั้งมีการช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่วนหน่วยงานรัฐอย่างหน่วยรับมือภัยพิบัติแห่งชาติก็ประกาศภารกิจช่วยเหลือ พร้อมกำลังตำรวจ ในการอพยพประชาชนจากพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ก็ต้องล่าช้าเนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง นอกจากนี้ หน่วยบริหารจัดการภัยพิบัติก็กำลังจัดทำแผนที่เขตอุทกภัยเพื่อเปิดโครงการสร้างที่พักพิงฉุกเฉิน เพื่อให้การอพยพเป็นไปได้ง่ายขึ้น
สหพันธ์สภากาชาด ร่วมกับสภาเสี้ยววงเดือนแดงบังกลาเทศ และสภากาชาดเนปาล ออกแถลงการณ์ขอความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยเกือบ 200,000 คน รวมทั้งการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และความช่วยเหลือเรื่องน้ำและอนามัย สุขภาพ และที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าฝนจะตกอย่างต่อเนื่องไปอีก 24 ชม.
ขณะที่มุมไบพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินระดับโลก บางส่วนของเมืองกำลังต่อสู้กับน้ำท่วมในช่วงมรสุมประจำปี โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำของเมือง ที่มีประชากรกว่า 20 ล้านคนอาศัยอยู่ และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปี นอกจากนี้ การก่อสร้างอาคารในพื้นที่ลุ่มและชายฝั่งทะเล ระบบระบายน้ำที่เก่าแก่ รวมทั้งทางน้ำที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ก็เป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและความเสียหายร้ายแรงต่อมหานครแห่งนี้