สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานข่าว กรณี การชันสูตรผลการเสียชีวิตของนายคิม จองนัม ขณะที่ถูกสังหาร ในสนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อช่วงสองสัปดาห์ ที่ผ่านมาว่า พบสารพิษบนใบหน้าและดวงตาของนายคิม จองนัม เป็นสารเคมีทำลายประสาท วีเอ็กซ์ เนิร์ฟ เอเจนต์ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดให้เป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี
ขณะที่ทางด้านพล.ต.อ.คาห์ลิด บาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย กล่าวว่า วีเอ็กซ์ เนิร์ฟ เอเจนต์ เป็นทั้งสารพิษผิดกฎหมาย และเป็นอาวุธเคมีร้ายแรง เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสอบสวนหาต้นตอ รวมถึงวิธีการที่คนร้ายนำสารพิษดังกล่าวเข้ามาในประเทศ
ขณะที่ทางด้านมาเลเซีย นั้น ได้ควบคุมตัวคน 3 คน เป็นผู้หญิงจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม และชายชาวเกาหลีเหนือ 1 คน แต่ต้องการสอบปากคำคนอีก 5 คน ซึ่ง 4 คนเชื่อว่าหลบหนีไปยังเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือแล้ว
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุในสมุดปกขาวกลาโหมปี 2014 ว่า เกาหลีเหนือเริ่มต้นการผลิตอาวุธเคมีในชาวงทศวรรษ 1980 และประเมินว่า พวกเขามีอาวุธเคมีประมาณ 2,500-5,000 ตันในคลัง เกาหลีเหนือมีโรงงานผลิตอาวุธเคมีในสถานที่ 8 แห่งรวมถึงท่าชงจินทางตะวันออกเฉียงเหนือและเมืองซินอุยจูทางตะวันตกเฉียงเหนือ เกาหลีใต้ระบุในสมุดปกขาวกลาโหมปี 2012
เชื่อว่าเกาหลีเหนือมีคลังสะสมสารวีเอ็กซ์ขนาดใหญ่ สารซึ่งสามารถผลิตได้ง่ายในราคาถูก สารวีเอ็กซ์ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว สามารถผลิตได้ในห้องทดลองขนาดเล็กของโรงงานผลิตยาฆ่าแมลง อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพสามารถถูกปล่อยแพร่กระจายได้ผ่านหลายๆ ช่องทาง เช่น ปืนใหญ่ ขีปนาวุธ และเครื่องบิน หากซึมซาบผ่านผิวหนัง ดวงตา หรือจมูก เพียงแค่หยดเล็กๆ ของสารเคมีทำลายประสาทไร้สีและกลิ่นนี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลางของเหยื่อจนถึงชีวิต
ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การทหาร คิม จองฮา จากมหาวิทยาฮันนัม กล่าวว่า เกาหลีเหนือมีสารเคมีทำลายประสาท 6 ชนิดรวมถึงวีเอ็กซ์และซารินที่กลุ่มลัทธิของญี่ปุ่นที่เชื่อในวันโลกาวินาศ โอมชินริเกียว ใช้ในปี 1995 เพื่อโจมตีระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียวทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน พวกเขายังครอบครองสารเคมีร้ายแรงอื่นด้วยรวมถึงสารที่ทำให้หายใจไม่ออก ผิวหนังพุพอง และเลือดไหล ตลอดจนอาวุธชีวภาพ 13 ชนิดเช่นแอนแทรกซ์และกาฬโรค เกาหลีเหนือไม่ได้ลงนามอนุสัญญาอาวุธเคมีระหว่างประเทศที่ห้ามการผลิต การเก็บสะสม และการใช้อาวุธเคมี กว่า 160 ประเทศลงนามอนุสัญญานี้ที่มีผลบังคับใช้ในปี 1997