ปริศนาสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ระเบิดอากาศ อาจเป็นตัวการ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวรอบโลก ปริศนาสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ระเบิดอากาศ อาจเป็นตัวการ
เป็นเวลานานนับศตวรรษที่ชาวโลกต่างงุนงงกับการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเรือและเครื่องบินที่แล่นผ่านสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา อันเป็นเขตน่านน้ำ 1.3 ล้าน ตร.กม. ซึ่งเกิดจากการลากจุด 3 จุด ได้แก่ เปอร์โตริโก ปลายสุดของรัฐฟลอริดาในสหรัฐ และเกาะเบอร์มิวดา ซึ่งนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีรายงานการสูญหายและการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับเรือจำนวน 10 กรณี ส่วนเครื่องบินมี 8 กรณีเป็นอย่างน้อย และมีรายงานว่า มีการตรวจพบความผิดปกติในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางมาพบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1492
หลายสิบปีที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญและนักสืบมือสมัครเล่นต่างตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการหายไปของยานพาหนะในเขตสามเหลี่ยมปีศาจแห่งนี้กันอย่างกว้างขวางแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน เพราะบางสมมติฐานฟังดูเหลือเชื่อเกินไป เช่นการลักพาตัวของมนุษย์ต่างดาว
แต่ในที่สุดปริศนาข้ามศตวรรษก็อาจถูกไขให้กระจ่างอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อ 2นักวิทยาศาสตร์ในสายอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยในรายการ What on Earth ของสถานีโทรทัศน์ Science Channel ว่า สาเหตุที่ทำให้เรือและเครื่องบินที่เคลื่อนผ่านสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย น่าจะเป็นผลมาจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดเมฆรวมตัวกันเป็นทรงหกเหลี่ยม กระทั่งกลายเป็น Air bombs หรือระเบิดอากาศ ที่มีอานุภาพคล้ายกับพายุเฮอริเคนฉับพลัน มีความเร็วลมสูงถึง 273 กม.ต่อ ชม. สามารถจมเรือและทำให้เครื่องบินตกสู่ก้นทะเลได้อย่างไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม นักวิทยาศาสตร์พบการก่อตัวของเมฆที่ทางตะวันตกของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ในลักษณะที่ประหลาดมาก เพราะแทนที่จะเป็นรูปทรงอิสระเหมือนเมฆทั่วๆ ไป หรือเป็นทรงกลมในกรณีที่เป็นพายุ มันกลับก่อตัวเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ตรงกลางกลวงไม่ทึบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 32-80 กม. และเมื่อใช้ดาวเทียมตรวจสอบผืนน้ำใต้กลุ่มเมฆพบว่ามีระลอกคลื่นรุนแรง ความสูงของคลื่นถึงเกือบ 14 ม.
สตีฟ มิลเลอร์ นักอุตุนิยมวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายดาวเทียม แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด สเตท กล่าวว่า ตามปกติแล้วเรามักจะไม่เห็นเมฆก่อตัวเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ตรงแน่วอย่างที่พบแถบสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา เพราะส่วนใหญ่แล้วเมฆจะก่อตัวอิสระไร้รูปทรง
ส่วน แรนดี เซอร์เวนี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา เผยว่า เมฆทรงหกเหลี่ยมก่อให้เกิดปรากฏการณ์ไมโครเบิร์สต์ (Microburst) ซึ่งเป็นกระแสลมที่มีลักษณะพุ่งลงในแนวดิ่ง จากฐานเมฆสู่พื้นดินด้วยความเร็วมหาศาล ความเร็วสูงสุดประมาณ 270 กม.ต่อ ชม.
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไมโครเบิร์สต์คล้ายกับระเบิดอากาศที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้าหากันทำให้เรือล่มในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนเครื่องบินที่บินผ่านไมโครเบิร์สต์ จะถูกแรงปะทะจนตกลงสู่ท้องทะเลในพริบตาเช่นกัน
มิลเลอร์กับเซอร์เวนียังเปรียบเทียบปรากฏการณ์เมฆที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดากับรูปแบบการก่อตัวของเมฆบริเวณทะเลเหนือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และก่อให้เกิดไมโครเบิร์สต์กับสภาพอากาศแปรปรวนฉับพลันเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่คัดค้านทฤษฎีนี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ เควิน คอร์รอโวนักพยากรณ์อากาศของสถานีโทรทัศน์ NBC ที่แสดงความเห็นว่า เมฆทรงหกเหลี่ยมที่ก่อตัวเหนือหมู่เกาะบาฮามาส ทางตะวันตกของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ไม่ใช่ลักษณะของเมฆแบบจำเพาะที่ก่อให้เกิดไมโครเบิร์สต์ เพราะปกติแล้วต้องเป็นกลุ่มเมฆทึบไม่ใช่เมฆที่กลวงตรงกลาง ตรงกันข้ามเมฆรูปทรงดังกล่าวอาจเกิดจากความร้อนชื้นที่แผ่ขึ้นมาจากเกาะบาฮามาสก็เป็นได้
ที่มา : Posttoday.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!