ทีมสืบสวนเหตุกราดยิง 9 ศพ ที่ศูนย์การค้าในเมืองมิวนิค ทางตอนใต้ของเยอรมนี ให้น้ำหนักกับประวัติด้านสุขภาพจิตของคนร้าย และ "การเลียนแบบ" จากเหตุสังหารหมู่ที่นอร์เวย์ หลังไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส
เยอรมนีมุ่งสืบประเด็นสภาพจิตมือกราดยิงมิวนิค
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ว่านายโธมัส เดอ ไมเซียรเร รมว.กระทรวงมหาดไทยเยอรมนี แถลงเมื่อวันเสาร์ ขอให้ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ามูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุกราดยิงของเด็กหนุ่มชาวเยอรมันเชื้อสายอิหร่าน วัย 18 ปี ที่ศูนย์การค้า "โอลิมเปีย" ในเมืองมิวนิค เมื่อวันศุกร์ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ศพ และได้รับบาดเจ็บอีก 27 คนนั้น "มีความเชื่อมโยง" กับนายอันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิค ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายในนอร์เวย์
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เมืองมิวนิคเกิดขึ้นในวันครบรอบ 5 ปีที่เบรวิค วัย 37 ปีก่อเหตุกราดยิงค่ายเยาวชนฤดูร้อนมีผู้เสียชีวิต 69 ศพ จากนั้นกลับมาก่อเหตุคาร์บอมบ์ในกรุงออสโล มีผู้เสียชีวิตอีก 8 ศพ แต่ยืนยันเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนหาความเกี่ยวข้องในประเด็นของการได้รับ "แรงบันดาลใจ"
ขณะเดียวกัน เดอ ไมเซียรเร ซึ่งเดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วยตัวเองด้วย กล่าวอีกว่าเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนในประเด็นที่คนร้ายเจาะเข้าบัญชีเฟซบุ๊กของเด็กสาวคนหนึ่ง แล้วส่งโฆษณาปลอมเรื่องการแจกสินค้าฟรีที่ร้านแมคโดนัลด์ของศูนย์การค้าโอลิมเปีย เพื่อลวงให้ผู้คนเข้ามายังสถานที่เกิดเหตุให้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น โดยมีอายุระหว่าง 14-20 ปี
แม้พนักงานสืบสวนยังไม่เผยภาพและข้อมูลส่วนบุคคลของคนร้ายออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งยิงตัวตายหลังมีการยิงต่อสู้กับตำรวจภายในอาคารจอดรถแห่งหนึ่ง แต่สื่อท้องถิ่นพร้อมใจกันประโคมข่าวแล้วว่า คือนายเดวิด อาลี ซอนโบลี หรืออาลี เดวิด ซอนโบลี อายุ 18 ปี เกิดและเติบโตที่เมืองมิวนิค ไม่มีประวัติข้องแวะกับอาชญากรรมและการก่อการร้าย แต่เชื่อว่าครอบครองอาวุธปืนอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากอาวุธที่ใช้ก่อเหตุซึ่งเป็นปืนพกขนาด 9 มิลลิเมตร มีร่องรอยของการลบหมายซีเรียลออก
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจค้นบ้านพักของซอนโบลีซึ่งอาศัยอยู่กับบิดามารดา พบประวัติเคยเข้ารับการบำบัดทางจิต การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืน "ในรูปแบบเดียว" กับการก่อเหตุของเบรวิค และหนังสือเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ นำไปสู่การตั้งสมมติฐานของเจ้าหน้าที่ ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส แต่เป็นเรื่องของปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า โดยจนถึงตอนนี้กลุ่มไอเอสยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ที่เมืองมิวนิค