กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (วันเอ็มดีบี) ได้ชื่อว่าเป็นกองทุนที่มีเรื่องทุจริตอื้อฉาวอย่างไม่หยุดหย่อน ล่าสุดธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ได้ประกาศยึดทรัพย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุนดังกล่าว และเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน รวมกว่า 176.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,192 ล้านบาท)
แถลงการณ์ของเอ็มเอเอส ระบุว่า
นอกจากนี้ การสืบสวนยังพบว่า ธนาคารดีบีเอส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ธนาคารยูบีเอส และธนาคารฟอลคอน ที่มีสาขาในสิงคโปร์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการฟอกเงินของกองทุนวันเอ็มดีบี จากความล่าช้าในการป้องกัน และขั้นตอนตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินก็อ่อนแออีกด้วย
"อย่างไรก็ดี การตรวจสอบของเอ็มเอเอส ไม่พบความบกพร่องในวงกว้าง และไม่พบพฤติกรรมทุจริตของพนักงานธนาคารทั้ง 3 แห่ง ไม่เหมือนกับกรณีของธนาคารบีเอสไอ" แถลงการณ์ของ เอ็มเอเอส ระบุ
ทั้งนี้ แบงก์ชาติสิงคโปร์ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมกิจการการค้าสิงคโปร์ เปิดเผยว่า การเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่อยู่ระหว่างการสอบสวนยังเชื่อมโยงไปถึงบริษัท กู๊ด สตาร์ ลิมิเต็ด ในสาธารณรัฐเซเชลส์ บริษัท อาบาร์ อินเวสต์เมนต์ พีเจเอส ลิมิเต็ด ทั้งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และสาธารณรัฐเซเชลส์ และบริษัท ทานอร์ ไฟแนนซ์ คอร์ป ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
"มาตรการที่เหมาะสมจะถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมายของสิงคโปร์" แถลงการณ์ของเอ็มเอเอส ระบุ
"โกลด์แมน แซคส์" ยันบริสุทธิ์
รอยเตอร์ส รายงานว่า โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ในสหรัฐ ช่วยกองทุนวันเอ็มดีบี ระดมทุนกว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.27 แสนล้านบาท) ผ่านการออกหุ้นกู้ 3 ครั้ง ในปี 2012 และ 2013 เพื่อนำไปลงทุนโครงการพลังงานแลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของมาเลเซีย
หุ้นกู้ครั้งแรกออกในเดือน พ.ค. 2012 ภายใต้โครงการแมกโนเลีย สามารถระดมทุนได้กว่า 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.12 หมื่นล้านบาท) หุ้น กู้ครั้งที่สองออกในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน ภายใต้ โครงการแม็กซิมัส ระดมทุนได้อีก 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการออกหุ้นกู้ทั้ง 2 ครั้ง เกี่ยวข้องกับกองทุนไอพีไอซี ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ระบุว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในปี 2012 กว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.55 หมื่นล้านบาท) ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม และถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์
ส่วนหุ้นกู้ครั้งที่ 3 ออกในปี 2013 ภายใต้โครงการคาตาไลซ์ ระดมทุนได้กว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.05 แสนล้านบาท) โดยเงินจำนวนกว่า 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.41 หมื่นล้านบาท) ถูกโอนไปยังบัญชีของบริษัทนอกอาณาเขตที่มีแค่ชื่อบังหน้า (เชลล์ คอมพานี)
ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยัง พบว่า เงินมูลค่ากว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.75 หมื่นล้านบาท) ที่ได้จากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ดังกล่าว ถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทุนวันเอ็มดีบี เครือญาติ และมิตรสหาย นำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม อาทิ ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรูหราในมหานครนิวยอร์ก และกรุงลอนดอน อังกฤษ ซื้อผลงานศิลปะ เช่น ภาพวาดของวินเซนต์ แวน โก๊ะ และโกลด โมเนต์ นำไปเล่นพนันในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และเป็นทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง เดอะ วูลฟ์ ออฟ วอลสตรีท ที่ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ แสดงนำ
ด้านโฆษกวาณิชธนกิจชื่อดัง ระบุว่า โกลด์แมน แซคส์ ช่วยกองทุนวันเอ็มดีบีระดมทุนในฐานะกองทุนความมั่งคั่งของมาเลเซีย ที่ออกแบบ มาเพื่อนำเงินไปลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และโกลด์แมน แซคส์ ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการนำเงินไปใช้ที่ไม่ตรงกับความต้องการของกองทุน
มาเลย์ไม่สั่งฟ้องวันเอ็มดีบี
แม้หลายประเทศจะเดินหน้ากดดันเรื่องนี้อย่างหนัก ทว่า โมฮาเหม็ด อะพันดี อัยการมาเลเซีย ระบุว่าจะยังไม่มีการสั่งฟ้องปัจเจกบุคคลหรือ หน่วยงานใดๆ ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ กรณีทุจริตกองทุนวันเอ็มดีบี เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ พร้อมแสดงความกังวลต่อการกล่าวหา ผู้นำมาเลเซียด้วย
ขณะที่สำนักโฆษกนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมาเลเซียจะให้ความร่วมมือในการสืบสวนบริษัทท้องถิ่นและประชาชนมาเลเซียที่ต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทุนฉาวอย่างเต็มที่ โดยราซัคยืนยันว่า หากพบการกระทำผิดจริง บุคคลหรือบริษัทนั้นๆ จะถูกลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น
ด้าน มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องให้ชาวมาเลเซียเดินขบวนประท้วงอย่างสันติเพื่อกดดันให้ราซัคลาออกจากตำแหน่ง และกดดันให้มีการทำประชามติต่อผู้นำมาเลเซีย กรณีเรื่องอื้อฉาวของกองทุนวันเอ็มดีบี