สองฝ่าย ยูเครน ปฏิเสธถอนอาวุธหนัก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญของแผนสันติภาพยูเครน ที่ผู้นำของทั้ง 4 ประเทศ คือเยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และยูเครน เห็นพ้องกันระหว่างการประชุมที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือการที่กองทัพรัฐบาลและกลุ่มกบฏต้องถอนอาวุธหนักออกจากพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อก่อตั้งเขตกันชนเป็นระยะทางอย่างน้อย 50 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร ( 05.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย )
อย่างไรก็ตาม กองทัพยูเครนและกลุ่มกบฏต่างปฏิเสธเคลื่อนย้ายอาวุธหนักออกจากพื้นที่ และกล่าวหากันไปมา ว่าเป็นผู้จุดชนวนการสู้รบในพื้นที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เมืองเดบัลต์เซเว ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองโดเนตสก์กับเมืองลูฮันสก์ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในภูมิภาคดอนบาสส์ ทางตะวันออกของประเทศ กระนั้นรายงานบางกระแสระบุว่า ทั้งสองฝ่ายพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลง หากการเจรจาลับหลังประสบความสำเร็จ
ขณะที่น.ส.เจน ซากี โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงแสดงความกังวลอย่างยิ่ง ต่อสถานการณ์ที่กำลัง "เปราะบาง" อย่างหนักในยูเครน รัฐบาลวอชิงตันขอเรียกร้องให้กลุ่มกบฏนิยมรัสเซียยุติการใช้ความรุนแรง และปเดทางให้คณะผู้สังเกตการณ์ขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี ) ลงพื้นที่โดยเร็ว
ด้านสหภาพยุโรป ( อียู ) ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่เมื่อวันจันทรื โดยเพิ่มชื่อบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เข้าทำเนียบรายชื่อผู้ถูกอายัดทรัพย์สินและห้ามเดินทางเข้าประเทศสมาชิกอียูเพิ่มอีกกว่า 20 คน ในจำนวนนี้รวมถึงรมช.กระทรวงกลาโหม 2 คน คือนายอนาโตลี อันโตนอฟ และนายอาร์คาดี บาคิน ฐานให้ความสนับสนุนการแทรกแซงทางทหารในยูเครน สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับรัฐบาลมอสโก ที่ยืนยันจะ "ตอบโต้" อย่างแน่นอน