น้ำมันขาลง กระทบศก.โลก ยังต้องจับตาส่งผลดีมากกว่าเสีย..จริงหรือ?

น้ำมันขาลง กระทบศก.โลก ยังต้องจับตาส่งผลดีมากกว่าเสีย..จริงหรือ?


น้ำมันขาลงกระทบศก.โลก ยังต้องจับตาส่งผลดีมากกว่าเสีย..จริงหรือ
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ


ราคาน้ำมันที่ร่วงลงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยมีทั้งฝ่ายที่ได้รับความสูญเสียและฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ โดยราคาน้ำมันดิบร่วงลงเกือบครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 สร้างความบอบช้ำให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่บางแห่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือรัสเซีย ที่เงินสกุลรูเบิลดิ่งลงเหว และนักลงทุนหลายรายยังเป็นกังวลว่า เวเนซุเอลาอาจผิดนัดชำระหนี้ 

- น้ำมันโลกขาลงดีต่อศก.จริงหรือ

แต่สำหรับหลายๆ ชาติที่บริโภคน้ำมันจำนวนมาก เรื่องราวนั้นแตกต่างออกไป ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างก็ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง 

"ในทางเศรษฐกิจแล้ว นี่เป็นเรื่องดีสำหรับสหรัฐ ยุโรป และจีน และเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่" ซาราห์ ลาดิสลาฟ ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและความมั่นคงแห่งชาติของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติในสหรัฐ กล่าวไว้ 

ทว่าที่สุดแล้ว การที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจะเป็นการช่วยเหลือหรือทำร้ายเศรษฐกิจโลกนั้นขึ้นอยู่กับว่า ราคาน้ำมันลดต่่ำลงไปอยู่ที่ระดับไหน และราคาคงอยู่ที่ระดับต่ำนานแค่ไหน และการลดต่ำของราคาน้ำมันครั้งนี้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้การค้าหยุดชะงักหรือทำให้นักลงทุนตื่นตกใจกลัวหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือที่เป็นราคาน้ำมันอ้างอิงส่วนใหญ่ของโลกอยู่ที่ 59.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ร่วงลงราว 47 เปอร์เซ็นต์ จากระดับสูงที่สุดของปีนี้ที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งการลดลงของราคานี้ ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของโลกสูญเสียรายได้ไปถึงวันละเกือบ 500,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลง 

- ค่าเงินรูเบิลโดนถล่มต่ำสุดแห่งปี

ราคาหุ้นกู้ของบริษัทน้ำมันของรัฐบาลหลายแห่งรวมถึงราคาพันธบัตรในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งก็ลดลงด้วย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในรัสเซียในปี 2558 ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปได้ แต่ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเทศกาลวันหยุดยาว โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่โดดเด่นในไตรมาสที่ 3 ตัวเลขอัตราการจ้างงาน รวมทั้งการเพิ่มของอัตราค่าจ้าง ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2550-2551 

ขณะที่การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินรูเบิลอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันลดลงยิ่งทำให้อัตราเร่งของการอ่อนค่าเพิ่มขึ้นไปอีก การตัดสินใจของรัฐบาลรัสเซียเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่เข้าช่วยเหลือรอสเนฟต์ บริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการชำระหนี้ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลร่วงลงหนักเข้าไปอีก จุดชนวนให้เกิดความกังวลว่าจะมีการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ขณะที่ชาวรัสเซียต่างพากันไปซื้อสินค้านำเข้าราคาแพงเนื่องจากกลัวว่า สินค้าเหล่านี้จะแพงขึ้นอีกหลังจากที่มีการปรับอัตราตามการนำเข้ารอบใหม่ ส่งผลให้ธนาคารกลางรัสเซียออกมาตรการแบบใช้ "ยาแรง" หลายข้อ เพื่อช่วยพยุงค่าเงินรูเบิล 

อาทิ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นอย่างพรวดพราดจาก 10 เป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันก็นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาขายในตลาดเพื่อสนับสนุนค่าเงินรูเบิล ทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน โดยมีมูลค่าเพิ่มมาราว 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะร่วงลง 4 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 มาอยู่ที่ 54 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยรูเบิลนับเป็นสกุลเงินที่มีผลงานแย่ที่สุดในปีนี้ร่วมกับสกุลเงินฮริฟเนียของยูเครน ที่สูญเสียมูลค่าไปมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ 

- หวั่นรัสเซียต้นเหตุวิกฤตศก.ครั้งใหม่

การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย ธนาคารกลางของรัสเซียระบุว่า หากราคาน้ำมันยังอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวลง 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 และแม้ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังจะหดตัวลงอยู่ดีที่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ 

ทั้งนี้ รัสเซียถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เมื่อปี 2541 เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกเมื่อรัสเซียผิดนัดชำระหนี้ และจะมีปัญหาอีกครั้งถ้าราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงนำไปสู่การล่มสลายของเศรษฐกิจรัสเซีย แม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจรัสเซียจะค่อนข้างเล็ก โดยคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวมทั่วโลก 

หากดูจากขนาดและขอบเขตแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัสเซียน่าจะทำให้การแพร่ขยายของผลกระทบอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก การไม่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย ทำให้ไม่มีความสำคัญต่อวงจรห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของโลก ทว่ามีอย่างน้อย 5 หนทางที่วิกฤตของรัสเซียสามารถแพร่ขยายออกไปได้ 

ปัญหาของรัสเซียตอนนี้เกิดจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างรุนแรง และพวกเขาไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาจากสาเหตุนี้ เวเนซุเอลาและอิหร่านเองก็พบว่า เป็นเรื่องยากที่จะสามารถรับมือกับระดับราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 70ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากรัสเซียเกิดไปไม่รอด จะมีคำถามตามมาคือ ใครจะเป็นรายต่อไป 

- ห่วงผลพวงลามทั่วทวีปยุโรป

ปัญหาที่ 2 คือ รัสเซียมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับยุโรปตะวันออก ดังนั้นแล้วการล่มสลายของรัสเซียจะส่งผลสืบเนื่องที่ร้ายแรงต่อประเทศอย่างโปแลนด์และยูเครนที่กำลังย่ำแย่ไม่แพ้กัน ขณะที่ยุโรปตะวันตกก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเช่นกัน

ปัญหาต่อมาคือ ความเชื่อมั่นจะถูกกระทบกระเทือน ผลงานที่อ่อนแอของเศรษฐกิจเยอรมนีนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เศร้าหมองมากขึ้น การชะลอตัวในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ทั้งหมดมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ปัญหาของรัสเซียที่เพิ่มเข้ามาอีกอาจเพียงพอต่อการทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ที่จะเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เริ่มต้นใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี

เหตุผลอีกข้อคือ ไม่มีใครแน่ใจว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะรับมือกับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี 2541 นี้อย่างไร ผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นจากวิกฤตครั้งนี้จะยิ่งทรุดหนักลงจากความรู้สึกที่ว่า รัสเซียปกครองโดยผู้นำที่มีความสามารถในการทำให้ประเทศยังมีความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์และมีอิทธิพลทางการทหาร

- เวเนฯ-ไนจีเรียออกอาการเป๋ตาม

ปัญหาสุดท้ายคือ สมมติฐานที่ว่าความเสี่ยงของตลาดการเงินต่อรัสเซียค่อนข้างจำกัด โดยดูจากจำนวนเงินที่ธนาคารต่างชาติปล่อยกู้ให้กับรัสเซียที่มีเพียงแค่ 209,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อมีการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งนักลงทุนชาวตะวันตกดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการที่พวกเขายังมีเวลาในการนำเงินออก ทว่าตลาดค้าเงินในตอนนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะมากน้อยขนาดไหน

ขณะที่เวเนซุเอลาซึ่งเหมือนกับรัสเซียตรงที่ ประสบปัญหาเศรษฐกิจก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันจะร่วงลงอยู่แล้ว แต่เวเนซุเอลาหนักยิ่งกว่าตรงที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันมากกว่ารัสเซีย โดยรายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ราคาพันธบัตรของรัฐบาลเวเนซุเอลาลดต่ำลงอย่างมากในช่วงหลายวันที่ผ่านมาจากการที่นักลงทุนเป็นกังวลว่ารัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นย่างก้าวที่จุดชนวนให้เกิดความสั่นคลอนทางการเมือง

ด้านไนจีเรียประกาศตัดลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศในปี 2558 ลง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง 

ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกก็เป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเช่นเดียวกัน ราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเชื้อเพลิงของเครื่องบิน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการที่ผู้บริโภคมีเงินให้ใช้จ่ายมากขึ้น และธุรกิจมีเงินสำหรับลงทุนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐประเมินว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำลงจะช่วยให้ครัวเรือนอเมริกันประหยัดเงินได้เฉลี่ย 550 ดอลลาร์ ราคาหุ้นของบริษัทด้านการเดินทางและขนส่งอย่าง เช่น ยูพีเอสและเฟดเอ็กซ์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2557 ว่าการลดลงของราคาเชื้อเพลิง "ดูเหมือนว่าจะมีแต่แง่บวก" สำหรับสหรัฐ แม้ว่าจะทำให้กิจกรรมการขุดเจาะน้ำมันภายในประเทศลดลงเนื่องจากสหรัฐยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุด 

- ราคาน้ำมันขาลงเสียมากกว่าได้ 


ผู้บริโภคในจีน ญี่ปุ่น และยุโรปใช้เงินรายได้ไปกับการจ่ายค่าพลังงานด้วยสัดส่วนที่ลดลง ถึงอย่างนั้นก็ตาม การลดลงของราคาน้ำมันก็ยังไม่ช่วยอะไรมากนักสำหรับญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากในทางกลับกัน สิ่งนี้เป็นอุปสรรคในการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึงเป้า 2 เปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้เพื่อเอาชนะภาวะเศรษฐกิจซบเซา 

อีกด้านหนึ่ง ประเทศที่มีความทะเยอทะยานในการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันอย่างบราซิล โคลอมเบีย และเม็กซิโก แน่นอนว่าจะต้องระงับโครงการไว้ก่อน

อุตสาหกรรมน้ำมันของบราซิลเพิ่งจะโซซัดโซเซมาจากกรณีอื้อฉาวด้านการทุจริตในเปโตรบราส บริษัทน้ำมันของรัฐบาล นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่มีอยู่ค่อนข้างมากของบราซิลยังต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการขุดเจาะเพื่อนำออกมาใช้ จากการที่แหล่งน้ำมันดิบดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้ก้นมหาสมุทร ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ผลตอบแทนที่จะลงทุนในส่วนนี้ไม่คุ้มค่า 

ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมันของชาติในละตินอเมริกาอีกแห่งอย่างโคลอมเบีย มีพัฒนาการที่ดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าพวกเขายังไม่ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบใหญ่เพิ่มแต่อย่างใด แต่ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น ทว่าถึงตอนนี้ราคาน้ำมันร่วงลง การสำรวจแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ก็ต้องชะลอออกไปก่อน 

ในส่วนของเม็กซิโกนั้น หลังจากที่ผลิตน้ำมันได้ลดลงมาหลายปี ก็ได้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจน้ำมันได้ โดยคาดว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่ยังไม่ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์อยู่มากพอสมควรทั้งบนพื้นดินและนอกชายฝั่งทะเล ที่อย่างไรก็ตามบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั่วโลกคงจะชะลอการเข้ามาเจรจาสัญญาสัมปทานออกไปก่อน 

และหากพูดถึงเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปก ที่สมาชิกรายใหญ่ของกลุ่มยังคงมีกำไรจากการขายน้ำมันอยู่แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตน้ำมันนั้นยังต่ำกว่าระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันมาก ถึงอย่างนั้นก็ตาม งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลที่ประเทศเหล่านี้ตั้งไว้ ยังอยู่บนสมมติฐานที่ว่าระดับราคาน้ำมันสูงกว่านี้ โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐประเมินว่า รายรับจากการขายน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปกจะลดลง 446,000 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2015 หรือปี 2558 ลดลง 36 เปอร์เซ็นต์ จากรายรับที่คาดว่าจะได้รับในปี 2557

คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบของราคาน้ำมันที่มีต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางในปี 2558 นี้ ว่าจะออกมาในรูปไหน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์