สำนักข่าวชื่อดังของโลก “อัลจาซีรา” เผยแพร่บทความวิเคราะห์การเมืองไทย โดยนำเสนอว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชนชั้นนำทางการเมืองทั้งหลายของไทยต้องทบทวนการใช้อำนาจเชิงสถาบันของตนเอง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม?
สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า “อัลจาซีรา”ตีพิมพ์บทความของนางซารีนา บานู นักเขียนอิสระ
ที่มีความเชี่ยวชาญในการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนางบานู ได้วิเคราะห์ว่า การเมืองไทยกำลังเดินเข้าสู่การเผชิญหน้ากันอีกครั้ง จนกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจะยอมประนีประนอม ขบวนการต่อต้านรัฐบาลกำลังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเลือกตั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง9คน ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยกลางพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีของไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาใช้สถานะก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง คือนายถวิล เปลี่ยนศรี ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ต้องลาออก อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็กำลังเดินหน้าเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ค.ที่จะถึงนี้
“รัฐประหาร”ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย ในอดีตวิธีการกำจัดผู้ปกครองที่ไม่พึงประสงค์ที่ไทยมักจะใช้มีอยู่สองประการคือ
การให้กองทัพออกมาใช้กำลังทำการรัฐประหารหรือการใช้อำนาจเชิงสถาบันอื่นๆขับไล่ผู้นำประเทศ ในอดีตผู้ที่จะออกมาใช้กำลังอาวุธยุทธภัณฑ์มักมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับบน ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้คนนับล้านที่เคยคล้อยตามเหล่าชนชั้นนำทางสังคมเหล่านั้น เริ่มมีทบทบาททางการเมืองเป็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น การคล้อยตามในสิ่งที่ชนชั้นนำพูดเริ่มน้อยลง โดยจะเห็นได้จาก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งอิสระที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรัฐประหารที่เคยเป็นเครื่องการันตีการสงบปากสงบคำของผู้คนก็เริ่มจะใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน
ชนชั้นนำทางสังคมของไทยส่วนมากจะมีบทบาทอยู่ในองค์กรอิสระอย่างเช่น
ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การรักษาอำนาจของพวกเขาก็เหมือนทหารกองหลังพยายามรักษาอากาศหายใจสำหรับตนเอง และส่วนการเรียกร้องให้มีการกวาดล้างปฏิรูปการเมืองเพื่อการเลือกตั้งนั้น เป็นเหมือนวิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเปลี่ยนจุดยืน เปลี่ยนข้างหรือเปลี่ยนกลุ่มที่ตนเคยอยู่
หากการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.เกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยซึ่งกุมเสียงส่วนมากในชนบทก็ยังคงจะเป็นผู้ชนะ
ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็เห็นว่า การเลือกตั้งใหม่เป็นหนทางที่ดีที่สุดตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งนำโดยแกนนำกปปส.อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณก็พยายามที่จะให้มีการกวาดล้างปฏิรูประบบรัฐสภา ก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ภารกิจหลักอีกประการคือ กำจัดอิทธิพลของ “ทักษิณ ชินวัตร”ให้ออกไปจากการเมืองไทย
กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองไทยรุ่นเก่ามักประกอบไปด้วยข้าราชการพลเรือนผู้ภักดี ผู้ที่มีบทบาทอยู่ในศาลและกองทัพ
ขณะที่ชนชั้นกลางฐานะดีซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ กลุ่มชนชั้นนำเก่านั้นกำลังสูญเสียอำนาจ ขณะที่เหล่าคนรวยใหม่ก็ต้องการรักษาสถานะของตนเอง นายไมเคิล มอนเตซาโน เจ้าหน้าที่โครงการไทยศึกษา ที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์กล่าวว่า โลกาภิวัฒน์กำลังทำให้คนไทยอีกครึ่งประเทศลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในขณะที่ชนชั้นนำทางการเมืองกำลังใช้อำนาจเชิงสถาบันของพวกเขาเป็นเหล็กแหลมคมคอยดักและปิดกั้นความคิดเห็นของคนในประเทศ
ขณะที่การหันมาประนีประนอมของชาติดูเหมือนจะเป็นทางออก
แต่คำพูดและการกระทำที่ไม่ได้ส่งเสริมการปรองดองก็กำลังนำพาประเทศไปสู่อันตรายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การเมืองไทยยังคงไม่มีผู้ที่มีอำนาจหรือมีบารมีพอที่จะสามารถเข้ามาทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกันอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การเมืองที่กำลังวุ่นวายนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ยิ่งตกต่ำลงไปอีกด้วย โดยการคาดการณ์ระดับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 รวมทั้งมูลค่าตลาดก็ลดลงเกือบร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้วอีกด้วย