เครื่องบินและเรือรวมกันกว่า 20 ลำ ร่วมปฏิบัติการค้นหาเบาะแสเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ในวันนี้ ท่ามกลางการคาดหวังว่า อุปกรณ์ไฮเทค 2 ชิ้นที่สหรัฐส่งมาหากล่องดำโดยเฉพาะ จะช่วยให้พบความคืบหน้าครั้งสำคัญในเร็ววันนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ว่า
พล.อ.อ.แองกัส ฮูสตัน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานนานาชาติเพื่อค้นหาเบาะแสเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. บริเวณมหาสมุทรอินเดีย พร้อมผู้อยู่บนเครื่อง 239 คน แถลงเกี่ยวกับภารกิจค้นหาในวันนี้ ว่ามีการระดมเรือเพิ่มเป็น 14 ลำ และเครื่องบิน 9 ลำ ลาดตระเวนพื้นที่ 217,000 ตารางกิโลเมตร ในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตกของเมืองเพิร์ธ ท่ามกลางทัศนวิสัยในระดับ "ปานกลาง"
นอกจากนี้ยังมีการส่งเรือเข้ามาเพิ่มเป็นพิเศษอีก 2 ลำ คือเรือลาดตระเวน "เอชเอ็มเอส เอ็คโค" ของอังกฤษ และเรือ "โอเชียน ชิลด์" ของออสเตรเลีย
ที่บรรทุกเครื่องมือล้ำสมัยสำหรับค้นหาสัญญาณจากกล่องบันทึกข้อมูลการบิน หรือกล่องดำ คือ "ทาวด์ พิงเกอร์ โลเคเตอร์" และหุ่นยนต์ค้นหาใต้ทะเล "บลูฟิน-21" ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมีความหวังว่า อุปกรณ์ทั้งสองชิ้นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ อาจนำไปสู่การพบเบาะแสสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ ก่อนที่แบตเตอรีของกล่องดำจะหมดภายในวันที่ 6-8 เม.ย.
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย เดินทางถึงเมืองเพิร์ธเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อหารือเรื่องภารกิจค้นหาเครื่องบินร่วมกับนายกรัฐมนตรีโทนี แอบบอตต์ ผู้นำออสเตรเลีย ซึ่งยอมรับว่า เป็นภารกิจที่ "ยิ่งใหญ่และยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" เนื่องจากไม่มีสิ่งใดสามารถยืนยันได้ว่า จะมีการค้นพบเครื่องบินหรือไม่
ขณะที่ผู้นำมาเลเซียกล่าวอย่างหนักแน่นว่า จะเดินหน้าค้นหาและสืบสวนต่อไป จนกว่าจะได้คำตอบที่กระจ่างชัด เพื่อนำไปชี้แจงแก่ครอบครัวของผู้ที่อยู่บนเครื่องทุกคน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินลำนี้กันแน่