เอพีวิเคราะห์นายกฯไทยกำลัง ดิ้นรน เพื่ออยู่ในอำนาจ

เอพีวิเคราะห์นายกฯไทยกำลัง ดิ้นรน เพื่ออยู่ในอำนาจ

สำนักข่าวเอพีของสหรัฐวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองครั้งล่าสุดในไทย ว่ารัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้

สำนักข่าวเอพีประจำประเทศไทยรายงานจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ว่าวอร์รูมของกระทรวงกลาโหม
 
คือสถานที่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการของไทย ซึ่งควบตำแหน่งรมว.กระทรวงกลาโหม ใช้เป็นห้องสังเกตการณ์และหารือแนวทางรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่ในเวลานี้กระจายกำลังกันปักหลักอยู่ทั่วเมืองหลวง เพื่อโค่นอำนาจเธอและรัฐบาล

กลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้นถนนสายสำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ พร้อมกับนำกระสอบทรายและแท่งคอนกรีตมาตั้งเป็นแนวป้องกัน พวกเขาปฏิเสธการเจรจาทุกรูปแบบ แผ่นป้ายหาเสียงของพรรครัฐบาลที่ส่วนใหญ่จะมีรูปใบหน้าของน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกปลดออกและถูกทำลายไปไม่น้อย ยิ่งก่อให้เกิดความสงสัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงไม่ออกคำสั่งใช้กำลังตำรวจในการสลายการชุมนุม
 
ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เธอกำลังหวั่นเกรงว่าอาจเป็นการกระตุ้นให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) มีมติให้ไต่สวนผู้นำหญิงของไทย ว่าเธออาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวอันอื้อฉาว ซึ่งหากผลการตรวจสอบพบว่าเธอผิดจริง น.ส. ยิ่งลักษณ์อาจต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าว เธอยังคงขอให้ทุกฝ่ายใจเย็น และอย่างเพิ่งแตกตื่นกับสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่

ประเทศไทยเผชิญกับเหตุไม่สงบทางการเมืองที่บานปลายกลายเป็นการปะทะและนองเลือดหลายครั้ง นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2549 ท่ามกลางกรณีอื้อฉาวว่าพ.ต.ท.ทักษิณคอร์รัปชั่นและดูหมิ่นราชวงศ์ แต่การแทรกแซงทางการเมืองของทหารในครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของความแตกแยกในสังคมไทยที่ร้าวลึกลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ระหว่างประชาชนในต่างจังหวัดทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนตระกูลชินวัตร กับชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในเมืองหลวง ซึ่งมองว่าตระกูลชินวัตรคอร์รัปชั่นต่อประเทศ

3 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักและสนใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่จากการเป็นนักธุรกิจหญิง สู่การเป็นนักการเมืองอ่อนหัดที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ปัจจุบันเธอกำลังต่อสู้เพื่อ "เอาชีวิตรอด" ทางการเมือง เธอและคณะรัฐมนตรีแทบไม่สามารถทำงานในทำเนียบและกระทรวงต่างๆได้ เนื่องจากไม่ว่าเธอจะไปที่ไหน กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะตามไปปิดล้อมและขัดขวางเธอทุกแห่ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมรับว่า รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขนานใหญ่ ไม่ต่างกับการทำงานในระบบทางไกล

เมื่อผู้สื่อข่าวซักถามว่าเธอกลัวหรือไม่ หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุม ประกาศกร้าวเมื่อกลางสัปดาห์ ว่าจะ "จับ" ตัวเธอทันทีที่พบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า เธอใช้วิธีหลีกเลี่ยงการเดินทางไปตามสถานที่สุ่มเสี่ยงแทน

นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 ม.ค.เป็นต้นมา กลุ่มผู้ชุมนุมของนายสุเทพยกระดับการชุมนุมโดยใช้มาตรการ "ปิด" กรุงเทพฯ
 
เพื่อกดดันน.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้บรรยากาศในภาพรวมจะเป็นไปอย่างสงบ แต่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ หลังมีการโยนระเบิดใส่การเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 30 คน ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธอยู่เบื้องหลัง และยืนยันว่า เธอทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย

ด้วยการนำประเทศให้ไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ให้ได้ แม้สถานการณ์ข้างหน้าเหมือนจะ "เข้าตาจน" แล้วก็ตาม





เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์