เมื่อวันที่ 16 ก.ย. พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
ให้สัมภาษณ์ “ข่าวสด” ว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา วัดสระเกศ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาส ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานพิธีเปิดศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ และพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธมงคลบรมบรรพต หรือ หลวงพ่อดวงดี ณ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ สำหรับศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์และศาลาบรมบรรพต สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมคุณธรรมจริยธรรมของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมฯ ภายในศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดวงดี หรือ พระพุทธมงคลบรมบรรพต พระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะงดงามโดดเด่น ด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ที่บรรจุอยู่บนยอดบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เนื่องจากหลวงพ่อดวงดีหล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ ที่บรรจุอยู่บนยอดภูเขาทอง พุทธศาสนิกชนที่ได้ทำการสักการบูชา เชื่อว่าจะประสบแต่ความโชคดี หนุนดวงชะตาให้ดี ขจัดเคราะห์และเกิดสิริมงคล ตลอดถึงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตนเองและครอบครัว ภายหลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ จึงมีพุทธศาสนิกชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ามากราบสักการบูชาเป็นจำนวนมาก
ปรากฏว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่างฮือฮากับภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ภายในศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ด้านตรงข้ามกับพระพุทธรูปหลวงพ่อดวงดี ซึ่งวาดเป็นรูปพระราหูถือปืนสไนเปอร์เล็งไปที่โลก จนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก มีบางคนนำรูปดังกล่าวไปโพสต์ลงในสื่อออนไลน์ สร้างความฮือฮาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ภาพวาดดังกล่าวเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นฝีมือการวาดของอาจารย์พีระพงศ์ ขุนจิตต์ จิตรกรรางวัลต้นธารศิลป์ของส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ และยังเป็นหนึ่งในจิตรกรที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปบูรณะปราสาทเทพบิดร ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี 2523
มีรูปพระราหูถือปืนสไนเปอร์นั้น ไม่ได้มีนัยยะความหมายทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ต้องการสะท้อนถึงช่วงเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2553-2555 ที่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จากคำสั่งใช้ความรุนแรงปราบปรามสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่วนการออกแบบให้เป็นภาพพระราหูถือปืนสไนเปอร์ เห็นว่าเป็นเรื่องสอดแทรกปริศนาธรรม พระราหูเป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดี โลกเป็นตัวแทนของมนุษย์ ส่วนปืนสไนเปอร์ ถูกใช้ในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ชุดสไนเปอร์ซุ่มยิงจากบนตึกใส่เป้าหมายคือผู้ชุมนุมเสื้อแดง ภาพดังกล่าวเป็นที่น่ายินดีมาก เพราะมีประชาชน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก