ชาวบ้านสุพรรณบุรี ฮือฮาเด็กแฝดชายหญิง 3 ขวบ แต่งงานสินสอด 100,000 ทอง 10 บาท ประเพณีครบถ้วนแบบเดียวกับพิธีแต่งงานของผู้ใหญ่ทุกประการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 55 ที่บ้านแหลม หมู่ 2 ต.บ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ได้มีการจัดงานพิธีแต่งงานเด็กฝาแฝดชายหญิง บ้านงานเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ที่ลานหน้าบ้านมีการกางเต้นท์ ตั้งโต๊ะไว้คอยรับแขก มีแม่ครัวกำลังช่วยกันทำอาหารไว้ถวายพระสงฆ์ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ขณะที่บนบ้านพระสงฆ์ 9 รูป กำลังสวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยมีคู่บ่าว-สาวตัวน้อย นั่งรับน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ โดยมีบรรดาญาติร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ด้านนายมลชัย มีแก้ว ผญบ.หมู่ 8 ต.สาลี อ.บางปลาม้า เล่าว่า ตนเป็นพี่ชายนายศิริลักษณ์ มีแก้ว อายุ 27 ปี
ซึ่งเป็นพ่อของเด็กแฝด ได้แต่งงานกับนางอัญชลี มีแก้ว อายุ 25 ปี หลังแต่งงานกันทั้งคู่ได้ช่วยกันประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากนั้นน้องสะใภ้ได้ตั้งท้องและคลอดบุตรออกมาเป็นฝาแฝดชายหญิง โดยหลานชายชื่อ ด.ช.ธนวัฒน์ หรือน้องเซี๊ยะ แฝดพี่ และแฝดน้อง ชื่อ ด.ญ.วรรณวนัช หรือน้องหมวย ทั้งคู่อายุ 3 ขวบ กับ 6 เดือน หลังจากคลอดแล้ว ก็เลี้ยงดูหลานทั้งคู่ตามปกติ แต่ด้วยความเชื่อของคนโบราณ ถือปฏิบัติกันมาของคนไทย ที่เชื่อว่าคนที่คลอดลูกออกมาแล้วเป็นฝาแฝดชายหญิง จะต้องให้ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานกัน มิฉะนั้นไม่คนใดก็คนหนึ่งจะต้องเสียชีวิต ดังนั้นบิดามารดาของตนและญาติ ๆ จึงได้จัดพิธีแต่งงานให้กับหลานแฝดทั้งสอง ตามความเชื่อของคนโบราณ
การจัดพิธีแต่งงานครั้งนี้ได้นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาประกอบพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเช้า พิธีรดน้ำสังข์
จากนั้นก็มีขบวนแห่ขันหมาก มีคณะแตรวงมาสร้างสีสัน มีพิธีผูกแขนตามประเพณีไทย ทุกอย่างเหมือนกับพิธีแต่งงานของผู้ใหญ่ทุกประการ จัดทำอาหารคาวหวานเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ที่สำคัญคือการแต่งงานครั้งนี้มีสินสอดเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท สร้อยคอทองคำ และสร้อยข้อมือน้ำหนักรวม 10 บาท สร้างความฮือฮาและสร้างความยินดีให้กับแขกที่มาร่วมเป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น
นายศิริลักษณ์ มีแก้ว และนางอัญชลี มีแก้ว สองสามีภรรยา บิดามารดาของน้องเซี๊ยะ และน้องหมวย ฝาแฝด กล่าวว่า
รู้สึกตื่นเต้นและยินดีที่มีญาติผู้ใหญ่และแขกให้เกียรติมาร่วมพิธีแต่งงานของลูกชายลูกสาวฝาแฝดของตนจำนวนมาก ที่จัดงานขึ้นก็เพราะรักและเป็นห่วงลูกทั้งสองคน ที่คนโบราณเชื่อว่าเมื่อมีลูกแฝดชายหญิงต้องให้แต่งงานกันไม่เช่นนั้นลูกคนใดคนหนึ่งจะต้องมีอันเป็นไป
"ตนกลัวว่าจะเสียลูกคนใดคนหนึ่งไป จึงร่วมกับญาติ ๆ จัดงานให้กับลูกทั้งสอง โดยกำหนดเอาวันนี้ ซึ่งเป็นวันดีจัดงานขึ้นและตนรู้สึกสบายใจที่ได้ทำตามคำเชื่อของโบราณ"