พบฟอสซิลกุญแจไขพัฒนาการสัตว์ยุคดึกฯ
"ฟอสซิลตัวอ่อนอายุ 600 ล้านปี"
ซินหัวเน็ต-การค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนขั้นกลางของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายปะการังท่อทางตอนใต้ของจีนไม่นานนี้ หากเกี่ยวข้องกับฟอสซิลตัวอ่อนขั้นต้นและตัวเต็มวัยที่พบในปี 1998 และ 2000 อาจเผยปริศนาว่า สิ่งมีชีวิตที่ออกลูกเป็นไข่ในยุคแรกสุดที่เรารู้จักนั้นมีพัฒนาการจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยอย่างไร
เมื่อปี 1998 ทีมนักวิจัยพบฟอสซิลตัวอ่อนอายุ 600 ล้านปีนับพันชิ้นใน Duoshantuo Formation หลังจากนั้น 2 ปี ก็ค้นพบฟอสซิลสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายปะการังที่รูปทรงคล้ายท่อ ชื่อ Megasphaera ornata ซึ่งเป็นฟอสซิลตัวเต็มวัยของฟอสซิลตัวอ่อนที่พบก่อนหน้า
ข้อสันนิษฐานด้านความเกี่ยวข้องของฟอสซิลทั้ง 2 ชนิดหนักแน่นมากขึ้นหลังการค้นพบฟอสซิลขั้นกลาง 80 ชิ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีลักษณะทั่วไปคล้าย 2 กลุ่มแรก ซูไห่เซียว สมาชิกทีมวิจัยของเวอร์จิเนีย เทคกล่าว
"เชื่อมต่อประวัติศาสตร์"
การค้นพบดังกล่าวจะช่วยเชื่อมต่อข้อมูลที่หายไปของพัฒนาการจากไข่ไปเป็นตัวเต็มวัยของสัตว์ยุคแรกสุดของโลก โดยข้อมูลจะถูกตีพิมพ์ในวารสารธรณีวิทยาฉบับเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่ตัวอ่อนขั้นกลางบางตัวกำลังอยู่ในระยะคลายตัว ซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า หากกระบวนการดำเนินต่อไป ตัวอ่อนจะเหยียดตัวตรงเป็นลักษณะของตัวเต็มวัยที่มีลักษณะคล้ายหลอดหรือท่อ
การค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนขั้นกลางครั้งนี้ จะสามารถช่วยไขข้อสงสัยในเรื่องพัฒนาการของสัตว์โบราณ และกระบวนการดังกล่าวจะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆหรือไม่ แม้ในปัจจุบันจะค้นพบว่าตัวอ่อนของสัตว์โบราณมีลักษณะคล้ายกับตัวอ่อนของสัตว์ในปัจจุบันอย่างมาก แต่ในเรื่องพัฒนาการจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัยในร่างกายของสิ่งมีชีวิตในสมัยโบราณยังคงเป็นความลับ.