ตะลึง!น้ำเต้าสี่เหลี่ยม ของแปลกที่บึงฉวาก
"น้ำเต้าสี่เหลี่ยม"
วันก่อนไปสะดุดตากับน้ำเต้ารูปร่างที่ไม่ค่อยจะเหมือนน้ำเต้าที่เรารู้จักกันสักเท่าไหร่
แต่เป็นน้ำเต้ารูปทรงเรขาคณิต เป็นน้ำเต้าสี่เหลี่ยมที่บางคนอาจยังไม่เคยพบเห็น อยู่ที่อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
เมื่อสงสัยก็ต้องสอบถามนายเชาว์ เสาวลักษณ์ ผู้อำนวยการอุทยานผักพื้นบ้านบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จึงเล่าให้ฟังพร้อมโชว์น้ำเต้าสี่เหลี่ยมที่ทำแล้วเสร็จว่า น้ำเต้ามีอยู่หลายชนิด มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไป
แต่ที่สามารถนำมาทำเป็นน้ำเต้าสี่เหลี่ยม หรือน้ำเต้ารูปทรงเรขาคณิตได้มีน้ำเต้าอยู่จำนวน 3 ชนิด คือ น้ำเต้าพื้นบ้าน น้ำเต้าเน่งบาร์ และน้ำเต้าทรงลูกจันทร์ ซึ่งมีลักษณะเล็กและเหมาะสมเท่าที่ทดลองมาแล้ว ทั้ง 3 อย่างนี้ได้ผลดี
โดยต้นคิดเรื่องนี้เริ่มมาจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี สมัยนั้นคือ นายวิพัฒน์ คงมาลัย ให้มีการคิดและทำน้ำเต้ารูปร่างแปลกๆ และหาจุดเด่นของอุทยานผักพื้นบ้านที่เป็นที่รวบรวมพันธุ์ผักพื้นบ้านกว่า 500 ชนิดไว้และให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ดูงานและเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานผักพื้นบ้านฯ
จนกระทั่งน้ำเต้าสี่เหลี่ยมสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดัง
ส่วนวิธีการทำต้องฟังกันให้ดีๆ เผื่อๆ ใครอยากจะทำบ้าง เริ่มต้นด้วยปลูกเลี้ยงน้ำเต้าแบบสมบูรณ์ใช้ได้ทั้งปลูกในกระถางหรือปลูกลงดินก็ได้ปลูกดูแลใส่ปุ๋ยไม่นานก็จะเริ่มออกผลเมื่อแน่ใจว่าติดผลแล้วจึงเลือกผลที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมและไม่มีแมลงรบกวน
แล้วก็หากล่องรูปทรงเรขาคณิตตามชอบมาใส่ลูกน้ำเต้า แต่ต้องเป็นกล่องที่มีรูปร่างลักษณะใส ลองแบบทึบแล้วเน่าใช้ไม่ได้ต้องใส่ให้แสงแดดสามารถผ่านเข้าไปด้านในได้ อย่างกล่องใส่ผลไม้รูปร่างต่างๆ ที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาด ต้องทำการเจาะรูระบายน้ำระบายอากาศได้ทั้งด้านบนและล่างเพื่อป้องกันเชื้อราและเน่า
จากนั้นดูแลไปจนถึง 90-120 วัน แล้วแต่อายุและชนิดของพันธุ์น้ำเต้า เมื่อได้รูปตามลักษณะที่ต้องการจึงนำเอากล่องออกแล้วจะได้น้ำเต้าก็จะออกมาเป็นทรงตามกล่องที่ใส่
แต่เท่าที่ทำมาแล้วน้ำเต้าสี่เหลี่ยมที่ออกมาดูแล้วดูดีที่สุดส่วนรูปอื่นเท่าที่ทำยังคงไม่มีความสวยงามเท่าที่ควรแล้วคราวนี้ทีมงานเป็นไปได้ก็หายสงสัยหายข้องใจแล้วคราวนี้ ส่วนใครอยากทำบ้างก็ไม่ว่า แต่ต้องดูแลให้ดีหน่อยประเดี๋ยวจะได้น้ำเต้าเน่าก่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือทรงเรขาคณิต
ส่วนใครไม่เคยเห็นก็เดินทางไปดูได้ที่ อุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติเพื่อการยังชีพ บึงฉวาก
น้ำเต้ารูปทรงประหลาดแบบนี้ยังรอผู้ไปเยือน