พบนกอ้ายงั่วเผือกตัวแรกในไทย
"แหล่งการกระจายนกอ้ายงั่ว"
วันที่ 21 ธ.ค. ในการสัมมนาวิชาการเรื่องการฟื้นฟูสัตว์ป่าเมืองไทย จัดโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชู ปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายขจรศักดิ์ จัยวัฒน์ จากกลุ่มภารกิจมาตรฐานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาเกี่ยวกับแหล่งการกระจายของนกอ้ายงั่ว และนิเวศวิทยาการสร้างรังวางไข่
กล่าวว่า จากการติดตามประชากรนกอ้ายงั่ว ซึ่งเป็นนกน้ำประจำถิ่นขนาดใหญ่ของประเทศไทยมา 2 ปี พบว่าประชากรนกอ้ายงั่วอยู่ในภาวะถูกคุกคามมาก เนื่องจากปัจจุบันแหล่งอาศัยหากินและแหล่งวางไข่ถูกทำลายลงไปมาก อีกทั้งยังมีการเก็บไข่นกไปบริโภค
"พบนกอ้ายงั่วเผือก"
ทั้งนี้จากการติดตามการวางไข่ของนกชนิดนี้ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และอ่างเก็บน้ำพระปรง และที่บ้านคลองมะละกอ จ.สระแก้ว ในฤดูผสมพันธุ์ ระหว่างเดือนพ.ค.-ต.ค.48 สามารถนับจำนวนรังนกได้ 52 รัง และเฉลี่ยรังละ 2-3 ตัวแต่มีรอดชีวิตประมาณ 80 กว่าตัว
"นอกจากนี้ยังค่อนข้างตื่นเต้น เนื่องจากการสำรวจประชากรและแหล่งทำรังวางไข่ของนกอ้ายงั่วที่สวนนกวัดห้วยจันทร์ ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี ระหว่าง 17 ก.ย.-พ.ย 2549 พบนกอ้ายงั่วทำรังอยู่บนต้นงิ้วป่า และต้นถ่อน ไม่น้อยกว่า 25 รัง แต่มีรังที่พบลูกนกรังละ 3 ตัว จำนวน 9 รัง และในจำนวนรังสุดท้ายของฤดูผสมพันธุ์ปีนี้ ยังพบลูกนกอ้ายงั่วเผือก 1 ตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นรายงานการพบนกอ้ายงั่วเผือกเป็นครั้งแรกในไทย อย่างไรก็ตาม การเป็นเผือกของนกจะไม่เป็นผลดีกับตัวสัตว์ เพราะถือว่าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม และอาจกระทบกับการดำรงชีวิตของนกให้อายุสั้นลง ซึ่งทางคณะจะติดตามนกตัวนี้ต่อไป" นายขจรศักดิ์กล่าว