วันนี้ ( 27 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่วัดกลาง หมู่ 4 ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระบาทพระพุทธเจ้าโผล่ยื่นออกจากนอกโลง จึงเดินทางไปตรวจสอบ
พบภายในฝาผนังมณฑปของวัด มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ที่กลางมณฑปมีพระแท่นยกสูง บนแท่นมีโลงลวดลายทองพื้นสีแดง ขนาดความกว้าง 70 ซม. ยาว 2 เมตร ส่วนตัวโลงศพมีความสูง 1 เมตร มีฐานชุกชีรองรับ ที่พิเศษคือตรงปลายโลงด้านทิศตะวันตก มีฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นโผล่พ้นโลงทองออกมาทั้ง 2 พระบาท พระบาทแต่ละข้างกว้างประมาณ 20 ซม. ยาว 40 ซม. กลางพระบาทมีรูปตรากงจักร และลายก้นหอยสวยงาม ที่ปลายพระบาทมีพระกัสสัปปะยืนไหว้พระบาทอยู่
พระครูโสภิตวิหารคุณ เจ้าอาวาส กล่าวว่า วัดกลางสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2330 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำป่าสัก โบราณสถานสำคัญคือมณฑปหรือวิหาร
ซึ่งเชื่อว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ข้างในบนฐานสูงกลางมณฑปได้จำลองพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า แบบเป็นสามมิติเสมือนจริง และมีจิตรกรรมฝาผนังรอบฝาผนังทั้ง 4 ทิศ เป็นเรื่องราวของสาวกพระพุทธเจ้า ที่มาร่วมในถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า
สำหรับมณฑปดังกล่าวเป็นการแสดงประติมากรรมดังกล่าวเป็นการแสดงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนหลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกายมหาวรรค ว่าเมื่อจะทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นไฟไม่ยอมลุกไหม้ จนกระทั่งพระกัสสัปปะอันเป็นอัครสาวกองค์หนึ่งมาถึง จึงเข้ามาถวายบังคมพระบรมศพที่พระบาททั้งสอง จากนั้น ไฟก็ติดขึ้นเองไหม้พระสรีระของพระพุทธองค์จนหมด โดยมณฑปแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยงานช่างพื้นบ้านโดยมีอิทธิพลจากงานประเพณีนิยมที่ผสมผสานกับอิทธิพลจากตะวันตกด้วย
โดยรูปแบบของซุ้มประตูแบบวงโค้ง เป็นแบบที่เริ่มนิยมในมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปรากฏรูปแบบที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4-5 เป็นอย่างช้า