ปิ๊งส้วมลอยน้ำ แก้ทุกข์น้ำท่วม

สธ.เปิดรับบริจาค ซิมารอนอ่อนแล้ว

ปิ๊งส้วมลอยน้ำ แก้ทุกข์น้ำท่วม


กรมอุตุฯระบุไต้ฝุ่นซิมารอนออกจากฟิลิปปินส์แล้ว คาดขึ้นฝั่งเวียดนาม 3 พ.ย. แต่ไม่ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก เพราะจะเจออากาศจากจีนปะทะจนอ่อนกำลังลง สมเด็จพระสังฆราชปล่อยคาราวานทั้งเงินและสิ่งของช่วยวัดในอยุธยา มี"ป๋าเปรม"เป็นประธานปล่อย อธิบดีกรมชลฯระบุปริมาณน้ำป่าสักเข้าเจ้าพระยาที่อยุธยาเพิ่มมากขึ้น รมว.สธ.สั่งสร้างส้วมลอยน้ำ โดยประสานวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ พร้อมรับบริจาคช่วยสร้างหลังละ 1.5 หมื่นบาท เตือนระวังบุตรหลานที่ร.ร.อยู่ที่ติดน้ำ เพราะเปิดเทอมแล้ว

ไต้ฝุ่น"ซิมารอน"อ่อนตัวแล้ว

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ ฉบับที่ 1 (177/2549) เรื่อง พายุไต้ฝุ่น "ซิมารอน" ความว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ พายุไต้ฝุ่น "ซิมารอน" ได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์และลงทะเลจีนใต้แล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 120 ก.ม. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หรือที่ละติจูด 16.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 ก.ม.ต่อช.ม.

พายุไต้ฝุ่นนี้กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกด้วยความเร็ว 15 ก.ม.ต่อช.ม. คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณวันที่ 3 พ.ย. 2549 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ลมรับหนาวจากประเทศจีน และจะทำให้มีฝนตกเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือ และภาคกลางจะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุนี้

อนึ่ง มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 1-3 พ.ย. 2549 ทำให้ภาคใต้ บริเวณจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังภัยจากฝนตกหนักในช่วงดังกล่าว สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือไว้ด้วย กรมอุตุนิยมวิทยาจะเฝ้าระวัง ติดตาม และประกาศให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

"ทุ่งพระพิมล"เตรียมรับน้ำต่อ


นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 06.00 น. วันเดียวกันนี้ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอเมือง จ.นครสวรรค์ 3,517 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวันก่อน 175 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,450 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลง 170 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจากแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 290 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้น 2 ลบ.ม.ต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,115 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้น 1 ลบ.ม.ต่อวินาที

"วันนี้กรมชลประทานจะติดตามสถานการณ์ทิศทางและความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นซิมารอนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือถึงทุ่งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมการสำหรับพื้นที่ทุ่งพระพิมลที่จะต้องรับน้ำระบายปริมาณมากจากทุ่งพระยาบรรลือในช่วงที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะที่บริเวณคลองมหาสวัสดิ์ นนทบุรี" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

เสนอครม.จ่ายชดเชย2พันล้าน

นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 31 ต.ค. จะมีการเสนอให้ครม.รับทราบในหลักการ เพื่อพิจารณาและของบฯ ชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งแบ่งตามเกณฑ์ได้ 3 หลักเกณฑ์ คือ 1.ค่าชดเชยตามเงื่อนไขเดิมของกระทรวงเกษตรฯ มูลค่า 1,800-2,000 ล้านบาท 2.การพิจารณาจ่ายชดเชยในกรณีที่เสียหายตามจริง และ 3.การจ่ายชดเชยในพื้นที่ผันน้ำเข้าทุ่ง

ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด โดยตนเป็นประธานเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ และค่าชดเชยความเสียหายต่อเกษตรกร อันเกิดจากน้ำท่วม โดยในวันที่ 2 พ.ย. 49 จะเรียกหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ในการพิจารณาค่าชดเชยเป็นไปโดยถูกต้อง ครอบคลุมและยุติธรรมที่สุด
หมดตัว- นายทองหล่อ บุญคง อายุ 57 ปี ชาวบ้านช่างเหล็ก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมบ้านและไร่นาจนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องยึดต้นก้ามปูเป็นบ้านกันตายกับ "ไอ้ขิง" หมาแสนรู้ ผ่านไปนับเดือนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

"การจ่ายชดเชยจะต้องใช้งบฯ ฉุกเฉินตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว การพิจารณาค่าชดเชยเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่จะได้ข้อมูลที่แท้จริง ได้ข้อมูลเสียหายที่แท้จริง ในผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม เพื่อให้การชดเชยถูกเยียวยาลงไปในสัดส่วนที่เสียหายจริง ขณะนี้ตัวเลขความเสียหายยังไม่นิ่ง ซึ่งจากการพิจารณาในเบื้องต้น ค่าชดเชยพิเศษ ที่จ่ายตามความเสียหายที่แท้จริง หากในพื้นที่ใดเสียหายโดยสิ้นเชิงในกรณีที่ยอมให้ผันน้ำเข้าทุ่ง อาจจะพิจารณาจ่ายมากกว่า 969 บาทต่อไร่ จากที่เคยประเมินค่าชดเชยสูงสุดก่อนหน้านี้" นายธีระกล่าว

สธ.รับบริจาคส้วมลอยน้ำ


น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เช้าวันเดียวกันนี้น.พ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ เพื่อประเมินปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังรุนแรงใน 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนนทบุรี โดยกำชับทุกจังหวัดที่น้ำท่วม และน้ำกำลังลดดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องส้วม จะต้องจัดการให้ดีและมีให้เพียงพอ มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย และจะจัดประชุมสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมภาคใต้ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นถัดจากนี้ไป

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส้วมที่จะทำในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อรองรับการขับถ่าย มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ส้วมน็อกดาวน์หรือส้วมฉุกเฉินและส้วมลอยน้ำ ได้มอบให้กรมอนามัยชุดทำส้วมลอยน้ำร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม และสระบุรี ราคาแห่งละ 15,000 บาท ขณะนี้มีประชาชนบริจาคทำส้วมลอยน้ำให้สาธารณสุขแล้ว 20 ราย จะได้เร่งดำเนินการจัดทำส่งให้พื้นที่โดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะบริจาคแจ้งได้ที่กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2590-1594 ตั้งแต่เวลา 08.30-20.00 น. และที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ สาขากระทรวงสาธารณสุข ชื่อบัญชีกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผู้ประสบภัย เลขที่บัญชี 340-2-11600-7 และแจ้งบริจาคหัวส้วมสร้าง ส้วมน็อคดาวน์ ได้ที่กรมอนามัย หมายเลขโทร.0-2590-4347, 0-2590-4484-5 เพื่อสร้างบนพื้นที่ปกติ เมื่อใช้เสร็จแล้วจะทำการฝังกลบ และเมื่อสิ้นสุดน้ำท่วมแล้วส้วมทั้ง 2 ชนิดนี้จะเก็บหัวส้วมส่วนบนไว้ใช้งานต่อได้อีก

สังฆราชประทานความช่วยเหลือ

เวลา 08.00 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนและจีน ที่นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมว่า ทุกหน่วยงานพยายามทำอย่างเต็มที่ในขณะนี้

เวลา 09.09 น. วันเดียวกัน ที่ลานวัดบวรนิเวศวิหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนคาราวาน "ธารน้ำพระทัยสมเด็จพระสังฆราช" ครั้งที่ 2 เพื่อช่วยเหลือวัดและประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีหน่วยทหาร ร.พัน 1 รอ. และพัน 1 ขส.รอ. นักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ประชาชน ดารานักแสดงรวมประมาณ 200 คน ร่วมในพิธี

ภายหลังพิธี พล.อ.เปรมแสดงความห่วงใยและสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับความช่วยเหลือวัดและประชาชนที่ถูกน้ำท่วมกับพระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ เป็นเวลานานประมาณ 30 นาที โดยพล.อ.เปรมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน บอกแต่เพียงว่ามีภารกิจสำคัญที่จะต้องรีบไป

ช่วยเหลือระหว่างวัดกับวัด

ปิ๊งส้วมลอยน้ำ แก้ทุกข์น้ำท่วม


ด้านพระราชรัตนมงคล เปิดเผยว่า พล.อ.เปรมแสดงความยินดีที่มีการช่วยเหลือระหว่างวัดกับวัดด้วยกัน ท่านถามว่ามีใครช่วยบริจาคบ้าง ได้ตอบไปว่ามีทั้ง 2 ฝ่าย คือโดยการส่วนพระองค์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และประชาชนร่วมบริจาค โดยในส่วนของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ประทานทุนปัจจัยเพื่อบูรณะวัดในจ.พระนครศรีอยุธยาทุกอำเภอรวม 41 วัด วัดละ 15,000 บาท เป็นเงิน 615,000 บาท และประทานทุนปัจจัยแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจ.พระนครศรีอยุธยาทุกอำเภอ จำนวน 719 ครอบครัว ครอบครัวละ 500 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 359,500 บาท

นอกจากนี้ได้ประทานถุงยังชีพพร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 719 ชุด ชุดละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 719,000 บาท และประทานทุนแก่ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา จำนวน 103,419 บาท

พระราชรัตนมงคล กล่าวต่อว่า ที่สำคัญสมเด็จพระสังฆราช ประทาน ครัวเคลื่อนที่สมเด็จพระสังฆราช ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยนำข้าวกล่อง 2,000 กล่อง ได้แก่ ข้าวกับไข่พะโล้ ทับทิมกรอบลอยแก้ว พร้อมด้วยน้ำดื่มไปแจกจ่ายประชาชนที่วัดท่าตอ อ.มหาราช ขนมสำหรับเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็กวัดท่าตออีกจำนวนหนึ่ง

"พล.อ.เปรมถามอีกว่า จุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดอยู่ตรงไหน อาตมาบอกว่าที่อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ครั้งที่แล้วไปที่อ่างทอง คราวต่อไปจะเป็นอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และจ.สิงห์บุรี เป็นที่สุดท้าย ท่านก็อนุโมทนาที่เห็นพระและญาติโยมมาช่วยกัน เป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมเพราะวัด-พระเดือดร้อน วัดได้รับความเสียหายมาก" พระราชรัตนมงคล กล่าว

ส่วนพระครูสังฆสิทธิกร ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า อาตมาแจ้งถึงสถานการณ์น้ำท่วมให้พล.อ.เปรมได้ทราบ ซึ่งท่านเป็นห่วงพระสงฆ์ และเด็กที่ประสบภัยน้ำท่วมมาก โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยฟื้นฟูวัด และให้กำลังใจกับผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เปิดรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคหรือปัจจัยจนถึงวันที่ 31 ต.ค. นี้ เพื่อนำไปมอบให้วัดและประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 3 พ.ย. และจ.สิงห์บุรี วันที่ 7 พ.ย. เป็นแห่งสุดท้าย สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2281-2831, 0-2281-2832, 0-2281-2833

สรุปท่วม47จว.337อำเภอ


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. -30 ต.ค. มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 47 จังหวัด 337 อำเภอ 24 กิ่งอำเภอ 2,216 ตำบล 13,261 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 3,681,518 คน 1,065,436 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 159 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,007,431 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 377,675,751 บาท สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 32 จังหวัด ยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 15 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ

ส่วนปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ นครสวรรค์ 3,517 ลบ.ม./วินาที ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 3,450 ลบ.ม./วินาที อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,115 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งและผันเข้าทุ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่างจ.ชัยนาท ถึงพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณเข้าทุ่งน้อยลงตามลำดับเหลือเพียง 481 ลบ.ม./วินาที รวมส่งน้ำเข้าพื้นที่ชลประทาน 119 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาตรน้ำทั้งหมด 514 ล้าน ลบ.ม. จึงคาดการณ์ได้ว่า หากไม่มีฝนตกลงมาสมทบในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอีก สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา น่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงจนเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้ อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากการที่กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน และคลองสายหลัก ในเขตรอบนอกจ.นครปฐม โดยเฉพาะพื้นที่อ.พุทธมณฑล ด้านริมคลองมหาสวัสดิ์ คลองโยง และคลองทวีวัฒนา ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำมาจากแม่น้ำท่าจีน และจ.สุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร จึงต้องนำกระสอบทรายมาปิดกั้นทางน้ำ ป้องกันมิให้น้ำท่วมถนนสายหลัก

ส่วนพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ในแถบอ.เมือง บางปลาม้า สองพี่น้อง มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ระดับ 0.501.60 เมตร โดยเฉพาะในเขตรอบนอกน้ำท่วมสูงอยู่ที่ระดับ 2 เมตร

น้ำไหลถล่ม"บางบาล"จม


ที่ชุมชนบ้านบางหลวง ม.1 ต.บางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำจากคลองบางหลวงที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่วมสูงกว่า 2.5 เมตร และท่วมมานานกว่า 1 เดือนครึ่งแล้ว โดยพบว่ากระแสน้ำในคลองไหลแรงมากและบริเวณดังกล่าวเป็นโค้งของสายน้ำ แต่เมื่อระดับน้ำสูงมากน้ำไม่ไหลไปตามโค้งน้ำแต่กลับไหลแทงเข้าไปในชุมชน

โดยล่าสุดเมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมากระแสน้ำได้พัดเอากอสวะขนาดใหญ่กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร จำนวน 2 กอสวะที่อัดแน่นไปด้วยวัชพืชและท่อนไม้ พุ่งกระแทกเข้าไปยังบ้านเลขที่ 19 และ 20 เขตหมู่ 1 ที่อยู่ติดคลองบางหลวง โดยกอสวะแรกทำให้บ้านเริ่มสั่นตามแรงน้ำ ทิ้งระยะห่างไม่เกิน 1 ชั่วโมง กอสวะที่ 2 ได้พัดเข้ามากระแทกซ้ำ ทำให้บ้านไม้ยกพื้นใต้ถุนสูงเลขที่ 20 ของนางอุบล ควรพันธ์ อายุ 53 ปี ซึ่งอยู่ติดคลองมากที่สุดพังเสาขาดทุกต้น และแรงน้ำพัดเอาบ้านแบบถอนเสาทั้งหลัง หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ ห่างจากจุดที่ตั้งเดิม 20 เมตร จนไปติดค้างกับต้นมะพร้าว และกระแสน้ำดึงบ้านจมมิดเหลือโผล่แต่หลังคาบ้านเท่านั้น

ส่วนบ้านเลขที่ 19 ของ นางวาสนา พินธุกนก อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นน้องสาว เป็นบ้านไม้หลังใหญ่กว่านั้นพบว่าเสาปูนด้านล่างแตกร้าวและบ้านสั่นเพราะแรงน้ำตลอดเวลา จนเกือบจะพังตามกระแสน้ำไป เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เพราะคืนที่เกิดเหตุ นางอุบล ได้มานอนค้างบ้านน้องสาว คงมีเพียงทรัพย์สินในบ้านที่เสียหายสูญไปกับสายน้ำ

ซึ่งขณะนี้พบว่า ทหารจำนวน 10 นาย จากกองสรรพาวุธซ่อมยางพระนครศรีอยุธยา กรมสรรพาวุธ กองทัพบก เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์ภายในบ้านเลขที่ 19 ของ นางวาสนา พินธุกนก เพื่อนำไปฝากยังบ้านพี่น้องที่ปัจจุบันก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน

ชาวบ้านอาศัยต้นไม้แบบทาร์ซาน


นายทองหล่อ บุญคง อายุ 57 ปี ชาวบ้านในต.ช่างเหล็ก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวภายหลังไร่นาสวนผสมจำนวน 20 ไร่ มีทั้งบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียนกว่า 2 แสนตัว มะละกอ 4 พันต้น พริก 2 พันต้น และฟักทอง 2 พันต้น ได้ถูกน้ำจากแม่น้ำเจ้าน้อยทะลักเข้าท่วมคันกั้นน้ำพังเข้าไปชั่วพริบตา พืชสวนบ่อปลาทั้งหมดจมไปกับน้ำเสียหายไปทั้งหมด เหลือเพียง"ไอ้ขิง"สุนัขแสนรู้เพื่อนยากกับของใช้พอจะเก็บหนีน้ำได้ทัน หอบหิ้วมาเก็บกองรวมไว้ใต้ต้นก้ามปูใหญ่ข้างๆ แปลงสวน

และได้ยึดต้นก้ามปูขนาดใหญ่เป็นบ้านพักชั่วคราว ตัดแปลงกิ่งก้านสาขาที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไปสูงกว่า 4 เมตร ทำเป็นบ้านพักหลบหนีน้ำใช้เป็นที่อยู่ชั่วคราว และเชื่อมั่นว่าน้ำท่วมไม่ถึงอย่างแน่นอน นำกระดานไม้มาปูรองทำเป็นพื้นไว้อาศัยหลับนอน นำบันไดลิงแบบชั่วคราวไว้อาศัยไต่ขึ้นลง กิ่งก้านของต้นก้ามปูยังใช้ประโยชน์เก็บพาดมุ้ง ผ้าห่ม พื้นที่ใช้สอยด้านบนพออยู่กับไอ้ขิง สุนัขแสนรู้เพื่อนยากได้เป็นอย่างดี


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์