เผยหินประหลาดเป็น ´แร่´ แกร่งเท่าเพชร อายุกว่า 1พันปี

"ควอตซ์ คาลซิโตนี่"

เผยหินประหลาดเป็น ´แร่´ แกร่งเท่าเพชร อายุกว่า 1พันปี


ฟันธงชัด หินประหลาด ไม่ใช่ ไข่ไดโนเสาร์ หรือ ไข่สัตว์ดึกดำบรรพ์ คนขุดพบกับญาติหอบไปให้ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการดูแล้ว ตรวจวิเคราะห์ละเอียดยิบเป็นหินในกลุ่มแร่รัตนชาติตระกูล ควอตซ์ คาลซิโตนี่ โดนทับถมนับพันปีจนแร่ธาตุเคลือบสีสันสวยงาม ผิวมันวาว ความแข็งแกร่งเกือบเท่าเพชร สมัยโบราณนิยมทำเครื่องประดับและตกแต่งบ้านเรือน มูลค่าประเมินมิได้ เพราะหายากมาก

จากกรณี นายอิสระพงษ์ พงศ์ไพสิทธิ์ อายุ 29 ปีอยู่บ้านเลขที่ 161/88-89 ถนนช้างเผือก ซอย 4 ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขุดพบก้อนหินประหลาดรูปกลมรีคล้ายไข่ไก่ ลองกะเทาะออกดูข้างมีก้อนสีเหลืองและสีส้มซุกซ่อนอยู่สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านย่านใกล้เคียง เบื้องต้นเชื่อกันว่าเป็นไข่ไดโนเสาร์หรือไข่สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ถูกฝังดินมานานจนกลายเป็นฟอสซิลและน่าจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตามที่เสนอไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น


"อายุกว่า 1000 ปี"


ความคืบหน้าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 ก.ค. นายอิสระพงษ์ พงศ์ไพสิทธิ์ เจ้าของก้อนหินประหลาดพร้อมญาติพี่น้องเดินทางไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นไข่ไดโนเสาร์หรือไข่สัตว์ดึกดำบรรพ์หรือไม่ โดยใช้เวลาตรวจสอบนานกว่า 1 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญได้กระเทาะชิ้นส่วนบางชิ้นออกมาส่องกล้องจุลทรรศน์และขูดผิวก้อนหินไปแช่ในน้ำยาเคมีเพื่อหาส่วนประกอบของแร่ธาตุเพื่อสรุปหาคำตอบ

จากนั้น นายวิวัฒน์ โตธิรกุล นักวิชาการธรณีวิทยา 8 ว. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติและองค์ประกอบทางเคมีของก้อนหินนี้ พบว่าเปลือกนอกมีความแข็งและเป็นมันวาว หากกระทบแสงไฟหรือแสงแดดจะเป็นเงามันสวยงาม ส่วนด้านในเป็นสีสันสีเหลืองอมแดง สีน้ำตาลอมแดง สรุปว่าไม่ใช่ไข่ไดโนเสาร์หรือไข่ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ตามความเชื่อของชาวบ้าน น่าจะเป็นหินในกลุ่มแร่รัตนชาติตระกูล ควอตซ์ คาลซิโตนี่ ที่ตกผลึกและทับถมมาเป็นเวลานานจนมีน้ำพัดหาแร่ธาตุซิลิกามาเคลือบเอาไว้จนเกาะตัวกันหนาแน่น ลักษณะนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี และมีโอกาสเป็นเพชรได้ ซึ่งต้องใช้เวลาทำปฏิกิริยาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านปี


"ปฏิกิริยาเคลือบ ไรโอไรต์"

เผยหินประหลาดเป็น ´แร่´ แกร่งเท่าเพชร อายุกว่า 1พันปี


นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ลักษณะด้านนอกของหินที่เป็นมันวาวน่าจะเป็นปฏิกิริยาการเคลือบของแร่ธาตุจากหินภูเขาไฟที่เรียกว่า ไรโอไรต์ ซึ่งแร่ชนิดนี้พบมากในแถบ จ.ลพบุรี สระบุรี แต่ที่น่าแปลกคือมีซิลิกาเกลือบด้านในและมีรูปร่างคล้ายไข่ ทำให้คนขุดพบเข้าใจผิดว่าเป็นไข่ อย่างไรก็ตามความแข็งของหินนี้สูงถึงระดับ 7 เกือบใกล้เคียงกับเพชรที่มีความแข็งในระดับ 10 ถือว่าชั้นผิวแข็งกว่าหินทั่วไปมากและมีน้ำหนักเบากว่าหินปกติเล็กน้อย ในสมัยโบราณนิยมนำมาใช้ทำเครื่องประดับหรือสิ่งของตกแต่งในบ้านเรือน ส่วนสนนราคาคงยืนยันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนซื้อและความพอใจของคนขายที่ตกลงกันเอง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์