3. เรียนรู้ที่จะรู้จักลูกของตนเอง วัยรุ่นมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งความต้องการในด้านต่าง ๆ ของลูกวัยรุ่น เช่น ความอยากรู้อยากลอง อยากได้อยากมีในสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับในหมู่เพื่อน ความต้องการที่จะเป็นที่สนใจในหมู่เพื่อนต่างเพศ ซึ่งธรรมชาติของวัยรุ่นนี้เองที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการล่อลวงต่าง ๆ ได้โดยง่าย พ่อแม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจ รู้จักลูกของตนมากยิ่งขึ้นในพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมาและสามารถที่จะป้องกันปัญหาและช่วยเหลือลูกได้อย่างทันท่วงที โดยพ่อแม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้จากหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาการของวัยรุ่น หรือขอคำปรึกษาจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในด้านการศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นโดยตรง เพื่อช่วยให้พ่อแม่รู้เท่าทันและสามารถแนะนำลูกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พร้อมกับสามารถปกป้องลูกของตนจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่แฝงเข้ามาได้
4. เป็นผู้ที่ปลูกฝังความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ลูก
ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจเชื่อในสิ่งใด หรือรับเอาความคิดใด ๆ เข้ามา
ต้องคิดให้รอบคอบอย่างสมเหตุสมผลก่อน ในสิ่งที่ได้รับมาว่าเป็นสิ่งดี
เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วจริงหรือไม่เพื่อสอนลูกให้เป็นคนที่มีเหตุผลและรู้จักที่จะคิด
อย่างมีวิจารณญาณในการแยกแยะที่จะเลือกรับในสิ่งที่ดี และปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ดี
เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับกระแสค่านิยมต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาได้โดยง่าย อาทิ
ค่านิยมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน เราอาจคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีมีประโยชน์เพราะ
เป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก่อน หากเข้ากันไม่ได้ทั้งคู่สามารถจะเลิกรากันไปได้โดยง่ายไม่ต้องมีพันธะอะไรต่อกัน แต่ถ้าหากเราลองคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วจะพบว่าการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขใด ๆ เลยเพราะเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ มีแต่ความวิตกกังวลกลัวว่าอีกฝ่ายจะจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ และถ้าพลาดเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา อนาคตในการเรียนต่อก็มีอันต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน
5. เป็นผู้ที่ให้ความรักและความเอาใจใส่ห่วงใยลูกอยู่เสมอ โดยทั่วไปเมื่อลูกมีพัฒนาการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ปัญหาที่พบมักจะเป็นในเรื่องของการเกิดช่องว่างในความรักความเข้าใจและช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการรับอิทธิพลต่าง ๆ ในโลกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมายก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นระหว่างวิถีชีวิตวัยรุ่นยุคก่อน กับวิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นในสมัยนี้ ซึ่งความแตกต่างอย่างมากนี้เองอาจส่งผลให้ช่องว่างในความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นที่มักเป็นปัญหาที่สะสมมาอยู่ก่อนแล้วถูกทำให้ขยายห่างมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นเองเพื่อการลดช่องว่างที่เกิดขึ้นพ่อแม่จึงควรที่จะทำความเข้าใจในตัวลูกให้มาก
6. มีเวลาให้กับลูกอย่างเฉพาะเจาะจง พ่อแม่จำเป็นต้องมีเวลาใกล้ชิดลูกอยู่เสมอ ในการพูดคุย การปรึกษาหารือ ให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษของพ่อแม่ โดยตระหนักว่าแม้ว่าลูกจะเติบโตเป็นวัยรุ่นแต่เขายังคงมีความต้องการในความรัก ความห่วงใยเอาใจใส่และการชี้ทิศนำทางจากพ่อแม่อยู่เสมอ พ่อแม่จึงควรมีเวลาให้กับลูกอย่างเฉพาะเจาะจง
7. เปิดใจในการรับฟังความคิดเห็นของลูก เนื่องจากลูกในวัยรุ่นมีความสามารถที่จะเข้าใจในการใช้เหตุผลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นในการพูดคุยกับลูก พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น เช่น การเอะอะโวยวายอาละวาด แสดงอาการโกรธเกรี้ยวไม่พอใจในการกระทำของลูก เพราะการแสดงออกเช่นนี้จะทำให้ลูกสูญเสียความไว้วางใจที่ลูกเคยมีในตัวของพ่อแม่ เพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่รักและไม่เข้าใจ เช่น ในกรณีที่ลูกมีรสนิยมการแต่งตัวที่ดูแปลกประหลาด ตามแฟชั่น ใส่เสื้อเกาะอก หรือการย้อมผมสีแปลก ๆ เป็นต้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ พูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจในสภาพที่เขาเป็น ให้ลูกสามารถที่จะสัมผัสในความรักและความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูก แล้วจึงค่อยทำการชี้แจงในสิ่งที่ลูกทำพร้อมกับฝึกให้ลูกเป็นคนที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อลูกจะได้สามารถแยกแยะที่จะเลือกรับในสิ่งที่ดีและปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ดี เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับกระแสค่านิยมต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาได้โดยง่าย เช่น ชี้แจงให้ลูกฟังว่าการใส่เสื้อผ้าสายเดี่ยวนั้นทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากภัยข่มขืนได้ หรือการแต่งตัวที่แปลกประหลาดผิดสถานที่ผิดกาลเทศะอาจทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือและสูญเสียโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
8. หมั่นสังเกตและเอาใจใส่ในเรื่องการใช้เวลาของลูกอยู่เสมอ พ่อแม่ไม่ควรที่จะปล่อยปละละเลยลูกในการใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกของตนกำลังทำอะไรอยู่หรือออกไปที่ไหนกับใคร โดยอาจให้เหตุผลว่าลูกโตแล้วหรือไม่อยากที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูก เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ถูกล่อลวงได้โดยง่าย ซึ่งอาจเกิดอันตรายที่เราไม่คาดคิดกับลูกได้ เช่น ภัยจากยาเสพติด การถูกล่อลวงทางเพศ ถึงแม้ลูกจะอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปที่ไหนก็ตามแต่ภัยอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะแฝงมาในรูปแบบที่เราคิดไม่ถึงได้เช่น ทางอินเทอร์เน็ต สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งหนังสือการ์ตูนบางประเภทที่แฝงไว้ด้วยเรื่องของเพศและความรุนแรงต่าง ๆ ดังนั้นเองพ่อแม่จึงควรที่จะหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ในเรื่องการใช้เวลาของลูกอยู่เสมออย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก
ได้อย่างทันท่วงทีจากบทบาทของความเป็นพ่อแม่ที่แต่เดิมนับว่าหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ในยุคสมัยใหม่พ่อแม่ต้องแสดงบทบาทที่หนักและเหน็ดเหนื่อยกว่าเดิมอีกหลายเท่า ไม่ว่าจะต้องพัฒนาตัวเองเป็นผู้ที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ การที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้นในการรับข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ การที่ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลวางแผนอนาคตเผื่อให้ลูก หรือการที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรักความอดทนและเข้าใจจิตใจภายในของลูกอยู่เสมอ(สุพัตรา สุภาพ.2545)
สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะสามารถสร้างชีวิตของลูกให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่นี้ได้ และเพื่อที่จะปกป้องดูแลและป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาทำร้ายลูกได้นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ในสังคมปัจจุบัน เราจำเป็นต้องให้เด็กได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวัง การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของพวกเขา ด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้ ทำให้เราสามารถขยายขอบเขตที่ครั้งหนึ่งเคยจำกัดออกไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดช่องทางหนึ่ง สิ่งใดที่ไม่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต เราจะรู้สึกราวกับว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโลกแห่งภยันตรายที่ผู้ให้การศึกษาและสังคม โดยทั่วไปที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษ