หลังจากที่มีการตรวจสอบพบสารเมลามีนเกินมาตรฐานในผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภท รวมทั้งนม กระทรวงสาธารณสุขได้รีบตรวจสอบและเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เข้าข่ายพบสารเมลามีนเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 พ.ย. ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายผลิตภัณฑ์อาหารที่พบสารเมลามีนเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ น้ำหนักรวมประมาณเกือบ 8 ตัน ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ขนม จำนวน 19,824 กล่อง น้ำหนัก 2,585.25 กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์นม จำนวน 13,085 กระป๋อง น้ำหนัก 5,037 กิโลกรัม
นายวิชาญกล่าวว่า จากกรณีมีข่าวการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์อาหาร จึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
ตรวจวิเคราะห์หาสารเมลามีนมาโดยตลอด และในวันนี้ บริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้า/ผลิตภัณฑ์ที่ อย. ตรวจพบสารเมลามีน เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ได้พร้อมกันนำผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเรียกคืนได้จากท้องตลาดมาเผาทำลาย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนสารเมลามีนเกินเกณฑ์มาตรฐานหลงเหลืออยู่ในท้องตลาด นับเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืนจากท้องตลาดและร่วมกันทำลายผลิตภัณฑ์ที่พบสารเมลามีนให้หมดสิ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
หลังจากเป็นประธานในพิธีเผาทำลายผลิตภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อนสารเมลามีนเกินเกณฑ์มาตรฐานแล้ว นายวิชาญได้เดินทางไปเยี่ยมชมบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมตรามะลิทุกประเภท
เพื่อดูเครื่องตรวจการปนเปื้อนสารเมลามีน ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดซื้อมาในราคา 8 ล้านบาท โดยกล่าวว่าถือเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องของการตรวจหา การปนเปื้อนของสารเมลามีน เนื่องจากเมลามีนถือเป็นเรื่องใหม่ การที่ผู้ประกอบการมีการซื้อเครื่องมือเพื่อตรวจหาการปนเปื้อนมาไว้ในโรงงาน จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีเครื่องมือตรวจหาการปนเปื้อนของสารเมลามีนไว้บริการในกรณีที่ผู้ประกอบการส่งผลิตภัณฑ์ให้ตรวจ หรือมีการส่งผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากท้องตลาดโดย อย.ไปตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยจะได้ไม่ต้องมาพูดเรื่องเมลามีนอีก เพราะเชื่อว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย ปลอดภัยจากเมลามีน 100%
จากนั้น นายวิชาญได้โชว์การดูดนมกล่องเพื่อแสดงความมั่นใจแก่ผู้บริโภคก่อนเดินทางกลับ
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เผาทำลาย ได้แก่ 1. นมข้นแปลงไขมันไม่หวาน สูตรน้ำมันปาล์ม เลขสารบบอาหาร 14-1-02323-1-0037 รุ่นหมดอายุ 16/01/09 จำนวน 1,216 กระป๋อง และรุ่นหมดอายุอื่นๆอีก 11,869 กระป๋อง จำนวนรวม 13,085 กระป๋อง น้ำหนัก 5,037 กิโลกรัม 2. ชีสแซนด์วิช ตราจูลี่ส์ เลขสารบบอาหาร 96-4-00136-2-0007 ขนาด 140 กรัม รุ่นหมดอายุ 24/07/2009 จำนวน 444 กล่อง และขนาด 650 กรัม รุ่นหมดอายุ 12/07/2009 จำนวน 480 กล่อง น้ำหนัก 374 กิโลกรัม 3. พีนัทแครกเกอร์ไส้ครีม ตราจูลี่ส์ เลขสารบบอาหาร 96-4-00136-2-0005 รุ่นหมดอายุ 30/08/2009 จำนวน 7,776 กล่อง น้ำหนัก 1,166.4 กิโลกรัม 4. ครีมแครกเกอร์ (ขนมปังตราโอโมโต) เลขสารบบอาหาร 96-4-00136-2-0088 รุ่นหมดอายุ 22/07/2009 จำนวน 2,280 ห่อ 5. สตรอเบอร์รี่สติ๊ก ตราฮาจูกุ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-1-1445 รุ่นหมดอายุ 20/06/2009 จำนวน 1,625 กล่อง น้ำหนัก 65 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ผู้นำเข้ายังได้นำผลิตภัณฑ์ตราโคอะล่า ที่บริษัทสามารถเรียกคืนได้จากท้องตลาดมาเผาทำลายด้วย
ได้แก่ 6. ขนมปังกรอบรูปหมีโคอะล่า สอดไส้ ครีมรสช็อกโกแลต ตราโคอะล่า เลขสารบบอาหาร 10-3-13241-1-0299 จำนวน 9 รุ่นได้แก่ รุ่นหมดอายุ 05-02-2009, 15-03-2009, 10-07-2009, 18-05-2009, 31-05-2009, 05-06-2009, 20-06-2009, 12-08-2009, 14-08-2009 จำนวน 3,559 กล่อง น้ำหนัก 263.29 กิโลกรัม 7. ขนมปังกรอบรูปหมีโคอะล่าสอดไส้ ครีมสตรอเบอร์รี่ ตราโคอะล่า เลขสารบบอาหาร 10-3-13241-1-0300 จำนวน 2,620 กล่อง น้ำหนัก 144.48 กิโลกรัม 8. ขนมปังกรอบรูปหมีโคอะล่าสอดไส้ครีมรสนม ตราโคอะล่า เลขสารบบอาหาร 10-3-13241-1-0303 จำนวน 1,000 กล่อง น้ำหนัก 94.08 กิโลกรัม รวมผลิตภัณฑ์ที่มีการเผาทำลาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนม จำนวน 19,824 กล่อง น้ำหนัก 2,585.25 กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์นม จำนวน 13,085 กระป๋อง น้ำหนัก 5,037 กิโลกรัม
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. มีนโยบายให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้านมและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
ต้องมีมาตรการในการควบคุมคุณภาพและมีกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบที่จะเข้ามาในกระบวนการผลิต ซึ่งต้องปราศจากการปนเปื้อนสารเมลามีน ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบวัตถุดิบว่าปราศจากสารเมลามีนและสารในกลุ่มเมลามีนทั้งหมด ซึ่งบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตรามะลิจะเป็นโรงงานแห่งแรกที่มีเครื่องตรวจสอบสารเมลามีนก่อนผลิต ตามคำแนะนำของ อย. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการจะมีมาตรการควบคุมการผลิต/นำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก