ย้อนเรียนม.4 ต้องมีเหตุผล

กรณีเรื่องราวพิลึกพิลั่นในวงการศึกษา

ที่นายเกื้อชน สังข์สวัสดิ์ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ที่จบการศึกษาชั้น ม.6 จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ฟ้องศาลปกครอง กรณีนายวัฒนา ภาวะไพบูลย์ ผอ.โรงเรียน และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่รับกลับเข้าเรียนชั้น ม.4 ใหม่


หลังจากที่นายเกื้อชนไปสมัครสอบและสอบเข้าได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยนายเกื้อชนอ้างเหตุผลในการขอกลับไปเรียนใน ระดับชั้น ม.4 ใหม่ว่า เพื่อเติมเต็มความรู้ระดับ ม.ปลายให้แน่นขึ้นอีกครั้ง โดยยินยอมที่จะสูญเสียเวลาถึง 7 ปี แต่ทางโรงเรียนไม่รับเข้าเรียน จนเป็นคดีความต้องให้ศาลพิพากษา เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับวงการศึกษานั้น

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ ถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ว่า ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาล ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องมีหน้าที่คอยไปชี้แจงเหตุผลต่อศาล การเรียกร้องความยุติธรรมโดยการฟ้องศาลของนายเกื้อชน สังข์สวัสดิ์ อดีตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ต้องการกลับไปเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมใหม่นั้น เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ต้องดูด้วยว่าการที่โรงเรียนไม่ยอมรับนายเกื้อชน เข้าเรียนเพราะอะไร มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่


ขณะนี้ตนยังไม่ทราบสาเหตุที่โรงเรียนไม่ยอมรับนายเกื้อชนเข้าเรียน

ทั้งนี้ ในส่วนของจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ ป.1-ม.6 นั้น ผู้ที่ได้รับโอกาสเรียนแล้ว หากต้องการที่จะกลับมารับโอกาสอีกครั้ง ก็ต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ เพราะในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐบาลจะจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียน และต้องการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงกับคนทุกกลุ่ม มากกว่าที่จะมาจัดการศึกษาให้ซ้ำๆอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว

ด้านนายวรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า

นายเกื้อชนสามารถนำหนังสือของ ม.ปลายมาเรียนได้ด้วยตนเอง เพราะมีวุฒิภาวะเรียบร้อยแล้ว การศึกษาของโลกที่แท้จริง คือการศึกษาตามอัธยาศัยและตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องมานั่งในห้องเรียนแล้ว โอกาสนอกห้องเรียนมีเยอะแยะ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือหาหนังสือมาอ่านก็ได้

เพราะการกลับไปเรียนใหม่มีภาระและต้นทุน
คือต้นทุนสังคมที่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว การศึกษาขั้นพื้นฐานที่นายเกื้อชนได้ใช้สิทธิไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เด็กคนอื่นเสียโอกาส หากสมมุติว่า มีคนกลับมาเรียนแบบนี้ หมดเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีที่เรียน การศึกษานอกโรงเรียนก็มีอยู่ เรียนทางไปรษณีย์ก็ได้ หรือไปหาตำรามาอ่านเองก็ได้ เรื่องนี้จะอ้างกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความสมเหตุสมผลด้วย


ขณะที่นายนภัส นวลจันทร์ นักเรียน ม.6 กลุ่มเครือข่ายเด็กอาสาเพื่อบ้านเกิดปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังนักเรียนกล่าวว่า ถ้านายเกื้อชนอยากเรียนจริงก็น่าจะให้กลับมาเรียนได้ แต่คิดว่ายังมีหนทางอื่นที่ดีกว่าการกลับมาเรียนใหม่ตั้งแต่ ม.4 แบบเต็มรูปแบบ น่าจะเลือกวิชาที่คิดว่ายังขาดอยู่เป็นวิชาๆไป ไม่ควรตีกรอบอยู่แค่การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว ซึ่งน่าเสียดายเวลา 


ส่วนนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

กระทรวงศึกษาธิการให้โอกาสนายเกื้อชน ซึ่งค้นพบตนเองว่าสนใจด้านภาษาและสังคมศึกษา และอยากกลับมาเรียนเพื่อเติมเต็มความรู้อีกครั้ง แต่การเรียนรู้ยังมีอีกหลายวิธี เช่น การศึกษาด้วยตนเอง การศึกษานอกระบบ

ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมากมายให้เลือกเรียน ไม่จำเป็นต้องกลับไปเรียนในโรงเรียนอีกก็ได้ ผู้เกี่ยวข้องคงต้องทำความเข้าใจกับนายเกื้อชนด้วยว่า ชีวิตยังมีเรื่องอีกมากมายที่จะต้องมองไปข้างหน้า ดีกว่าการมองย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่ชั้น ม.ปลาย กรณีนี้ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่นักการศึกษากระทรวงศึกษาธิการไม่ควรปฏิเสธความคิดของเด็ก ควรถือเป็นกรณีศึกษาเพื่อทบทวนปัญหาในวงการศึกษา เช่น ปัญหาหลักสูตร ม.ปลาย ปัญหาแนะแนวในโรงเรียน ปัญหาการเรียนต่ออุดมศึกษา เป็นต้น


ด้านนายวัฒนา ภาวะไพบูลย์ ผอ.ร.ร.พิษณุโลกพิทยาคม เปิดเผยว่า

เหตุที่ทางโรงเรียนไม่รับนายเกื้อชน เข้าศึกษาต่อชั้น ม.4 เนื่องจากนายเกื้อชนได้จบการศึกษาตามหลักสูตรไปแล้ว และทางโรงเรียนก็ได้จำหน่ายชื่อและรายงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปว่า ได้จบการศึกษาตามเกณฑ์ ตามรัฐธรรมนูญนั้นระบุว่า เด็กควรได้รับการศึกษาตามพื้นฐาน 12 ปี และนายเกื้อชน ก็ได้ใช้ สิทธินั้นไปแล้ว

หากโรงเรียนรับเท่ากับเป็นการกีดกันนักเรียนคนอื่น ส่วนที่เปิดให้สมัครเข้าเรียนได้นั้น เนื่องจากนายเกื้อชนอ้างกับครูที่รับสมัครว่า ประสบอุบัติเหตุไม่สามารถเรียนจบนิติศาสตร์ได้ ต้องมาเรียนเพิ่มเติมอีก เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนอีกครั้งครูจึงยอมให้สมัคร 

ผอ.ร.ร.พิษณุโลกพิทยาคม กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นคดีประวัติศาสตร์และเป็นครั้งแรกในวงการศึกษาไทย ที่ถูกนักเรียนฟ้องให้รับเข้าศึกษาต่อในโรงเรียน ทั้งนี้ ศาลปกครองพิษณุโลกได้ตัดสินแล้วว่า ไม่รับคำฟ้องโดยการให้คุ้มครองฉุกเฉินให้นายเกื้อชนเข้ามาเรียนได้

ทั้งนี้ นายเกื้อชนได้ร้องต่อศาลปกครองแยกออกเป็น 2 ประเด็น

 คือขอให้คุ้มครองสิทธิการเข้าเป็นนักเรียนไปก่อน และให้โรงเรียนรับเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ถ้าหากศาลวินิจฉัยให้นายเกื้อชนเข้าเรียนได้ทางโรงเรียนก็จะรับเข้าเรียนทันที 

ด้านนายเกื้อชนกล่าวว่า เหตุที่ต้องการกลับไปเรียนชั้น ม.4 ใหม่อีกครั้ง เพราะไม่มีความพร้อมหลายด้าน ขณะเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ไม่เข้าใจด้านการตีความทางภาษา หรือความเข้าใจวิชาสังคม รู้สึกว่าขาดความพร้อม ต้องการกลับมาเรียนใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ

ทางโรงเรียนอ้างว่าตนได้จบการศึกษาไปแล้ว จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยกับเพื่อนร่วมชั้น ทั้งที่ตนก็มีน้องสาวและเพื่อนอายุ 15-16 ปี อยู่หลายคน สามารถเข้ากันได้ดีไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนที่ต้องร้องเรียนต่อศาลปกครองก็เพื่อต้องการได้รับสิทธิที่ควรได้ คือให้ทางโรงเรียนพิจารณารับเข้าเรียนให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่ให้ความสนใจหลบหน้า ทั้งยังถูกท้าทายให้ไปฟ้องร้องหาความยุติธรรมเอาเอง จึงตัดสินไปฟ้องศาลปกครอง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์