หายาก! ดาวฤกษ์จับกลุ่ม 5 ดวง
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักดาราศาสตร์พบดาวฤกษ์ 5 ดวงร่วมวงโคจรเดียวกัน ดาวแฝดคู่หนึ่งมีชั้นบรรยากาศสัมผัสกัน ซึ่งเป็นของหายากมาก อีกคู่หนึ่งลอยดวงแยกจากกัน โดยมีอีกดวงหนึ่งโคจรไปพร้อมกับคู่หลัง
นักวิจัยบอกในการนำเสนอผลวิจัยต่อที่ประชุมดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เมืองลันดัดโน ประเทศอังกฤษ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่พบดาวคู่มีดาวฤกษ์อีกดวงโดดๆเป็นดาวสหายเช่นนี้
ดาวฤกษ์ทั้งสองคู่โคจรรอบศูนย์กลางความโน้มถ่วงเดียวกัน แต่อยู่แยกกันในระยะห่างมากกว่าระยะทางระหว่างดาวพลูโตกับดวงอาทิตย์
ระบบดาวฤกษ์ที่หายากดังกล่าวอยู่ภายในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ห่างจากโลก 250 ปีแสง ค้นพบโดยโครงการ SuperWASP (Wide Angel Search for Planets) ซึ่งใช้กล้องดูดาวที่หมู่เกาะคานารี และที่แอฟริกาใต้
นักวิจัยสังเกตแสงจากดาวฤกษ์ที่สว่างลดลงเมื่อแต่ละดวงโคจรผ่านหน้าดวงอื่นๆ แล้วสร้างกราฟเส้นโค้งแสดงความสว่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทราบได้ว่าระบบดังกล่าวประกอบด้วยดาวแฝด 2 คู่ คู่หนึ่งเป็นแฝดติดกัน หรือ ‘contact binary’
นักวิจัยร่วม ดร.มาร์คัส ลอร์ แห่งโอเพนยูนิเวอร์ซิตี บอกกับบีบีซีว่า แฝดติดกันเป็นดาวฤกษ์ที่โคจรใกล้กันมาก จนกระทั่งบรรยากาศชั้นนอกของดาวทั้งสองสัมผัสกัน
อีกคู่หนึ่งเป็นแฝดแยก อยู่ห่างจากกันประมาณ 3 ล้านกิโลเมตร ดาวแฝดทั้งสองโคจรในระนาบเดียวกันด้วยระยะห่าง 21,000 ล้านกม.
ผลการสังเกตความยาวคลื่นของแสงจากระบบดาวฤกษ์ดังกล่าว ทำให้พบดวงที่ห้า ซึ่งมีความสัมพันธ์กับดาวแฝดแยก
ดร.ลอร์บอกว่า เป็นระบบดาวที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ละคู่แฝดคงมีดาวเคราะห์เป็นบริวารอยู่ด้วย ถ้ามีมนุษย์อยู่ในระบบดาวนี้ ผู้คนในภาพยนตร์สตาร์วอร์สคงชิดซ้ายไปเลย เพราะคนบนนั้นจะมองเห็นดวงอาทิตย์อย่างน้อย 5 ดวงเลยทีเดียว
เขาบอกอีกว่า การที่ดาวฤกษ์เหล่านี้โคจรในระนาบเดียวกัน แสดงว่าล้วนก่อตัวขึ้นจากแผ่นจานสะสมสาร อันประกอบด้วยก๊าซและฝุ่น แผ่นเดียวกัน ที่ผ่านมา เคยพบระบบดาวห้าดวงอย่างน้อยครั้งหนึ่ง โดยกล้องเคปเลอร์ของนาซา.
Source: BBC News
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!