เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา
กล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัฐสภาบ่อยครั้งนั้นว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม ซึ่งในอดีตไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเลือกคนมาเป็นประธานรัฐสภา ก็จะปล่อยให้ทำหน้าที่ได้โดยอิสระ เพราะคนเป็นประธานรัฐสภาต้องตระหนักตัวเองว่า ต้องวางตัวเป็นกลางโดยไม่ต้องมีใครมาสั่งได้ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ กลายเป็นว่าต้องรอคำสั่งให้ทำอะไร อย่างไร จึงหมดความเป็นอิสระ ทำให้การตีความข้อบังคับตามเงื่อนไขที่ตัวเองต้องการ ไม่ได้เป็นไปตามหลัก เช่น การจำกัดสิทธิของผู้ที่แปรญัตติในสมัยก่อนไม่ค่อยมี ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า สภาได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะประธานไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ แต่อยู่ในเงื่อนไขที่พรรคหรือผู้มีอำนาจสั่งมา ทำให้บทบาทของประธานรัฐสภาไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น จนเกิดข้อขัดแย้งในการประชุมรัฐสภา ที่มาจากเงื่อนไขการทำหน้าที่ของคนเป็นประธาน
นายชวนกล่าวว่า จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนมองว่าพรรค ปชป.เป็นจำเลย
เพราะประชาชนไม่ได้เห็นหรือฟังการประชุมต่อเนื่อง เขาเห็นเฉพาะช่วงที่มีปัญหา เช่น ที่มีการทุ่มเก้าอี้ แต่ไม่ได้ติดตามว่าถูกกดดันอย่างไร ทั้งการถูกตัดสิทธิไม่ให้พูดทั้งที่สงวนคำแปรญัตติ และอีกหลายอย่าง จนทำให้เกิดอารมณ์ ทั้งนี้ ตนได้เตือนเพื่อนสมาชิกร่วมพรรคให้อดทนและยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประชาชนเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ผิดว่า เป็นตัวป่วนของสภา ส่วนการทำงานในรัฐสภาโดยไม่สูญเสียภาพลักษณ์ของพรรคนั้น ก็ต้องสยบยอมเขากลายเป็นเด็กดี ซึ่งไม่ใช่วิถีของพรรค ปชป.และไม่ต้องการอย่างนั้น
เมื่อถามว่า พรรค ปชป.ยืนยันว่า จะไม่ยอมเป็นเด็กดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่
นายชวนกล่าวว่า คนที่เป็นเด็กดี เขาต้องสั่งได้ แต่ ปชป.คือกลุ่มหนึ่งที่เขายังคุมไม่ได้ในบ้านเมืองนี้ แม้สิ่งที่พรรคกำลังต่อสู้อยู่จะทำให้พรรคตกเป็นเป้าในการถูกโจมตี ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนรู้ถึงสถานการณ์ว่า มีต้นเหตุอย่างไร ชาวสวนยางพาราเดือดร้อน แต่ ส.ส.กลับละเลยไม่สนใจ แม้จะมีการชุมนุมประท้วง ก็ไม่มีใครไปดูแล คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าทำอย่างนั้น ต้องถูกตำหนิ ดังนั้น คนที่เป็นผู้แทนฯ ต้องตระหนักภาระหน้าที่ของตัวเอง
นายชวนกล่าวว่า สำหรับการจะยับยั้งการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง จึงต้องยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่พระราชทานให้ไว้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เมื่อ 3-4 ปีก่อนที่ว่า ให้ทุกคนกลับไปทบทวนว่า มีหน้าที่ทำอะไร แล้วทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่เรียกร้องให้คนอื่นทำแต่ตัวเองไม่ทำ เหมือนที่เราได้ยินผู้ใหญ่พูดว่าการโกงไม่ดี แต่ตัวเองกลับโกง หรือพูดถึงประชาธิปไตยสวยหรูแต่มาจากการซื้อเสียงโกงการเลือกตั้ง ดังนั้น ทุกคนต้องถามตัวเองว่าทำหน้าที่ของตัวเองดีพอหรือยัง