เมื่อวันที่ 9 ก.ย. เวลา 11.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าหารือกับนายคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ เลขาธิการสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ จากนั้นได้เข้าพบหารือกับนางนาวาเนเธ็ม ฟิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
โดยพูดคุยถึงการประกันสิทธิของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปัญหาแรงงานต่างด้าว การต่อต้านการทรมาน และปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
จากนั้นเวลา 12.40 น.นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 24 โดยกล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย รัฐบาลต้องคงไว้ซึ่งการสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตยด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้อำนาจในวิถีทางที่เคารพต่อเสียงส่วนน้อย ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่ในอำนาจต้องไม่ยึดติดกับอำนาจและไม่นำความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งยัดเยียดให้กับผู้อื่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดเวลาที่เข้ามาบริหารประเทศรัฐบาลสนับสนุนนโยบายและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สตรี เด็กและคนพิการ ได้รับสิทธิจากบริการขอรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดอุปสรรคทางกายภาพ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการของคณะมนตรีฯ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีและเด็ก จากความท้าทายที่หลากหลายระหว่างภูมิภาคถึงภูมิภาค จึงสำคัญยิ่งสำหรับคณะมนตรีฯในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคและกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลของอาเซียน ด้านสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นก้าวสำคัญเช่นกัน
"ประเทศไทยได้ผ่านความท้าทายในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาหลายทศวรรษ การเดินทางยังไม่ราบรื่น แม้แต่ขณะนี้ดิฉันยังต้องปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และนิติรัฐ นิติธรรม เป็นคุณค่าสากลที่เชื่อมประชาชนและประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ประเทศไทยตระหนักถึงความทุ่มเททั้งหลายในการกำหนดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เราสนับสนุนหลักคิดที่สะท้อนประเด็นเหล่านี้ ภายใต้วาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 อย่างต่อเนื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว