สภาล่มต่อหน้า'ยิ่งลักษณ์' เผย 26 ส.ส.พท.-30 ส.ส.รบ.โดดร่ม 'เยาวภา' เรียก ส.ส.เบี้ยวประชุมเข้าพบ พท.ปลดวิป รบ.ที่ขาดประชุมพ้นตำแหน่ง
การประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยที่มาของ ส.ว. เป็นวันที่เก้าได้เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 11.15 น. เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2556 โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
โดยที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 7 ปรากฏว่าที่ประชุมได้เริ่มการประชุมไปเพียง 10 นาที นายสมศักดิ์ก็ได้สั่งพักการประชุม เนื่องจาก นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นับองค์ประชุม หลังจากที่ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมให้ครบเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง แต่นายสมศักดิ์ก็ไม่ได้ดำเนินการเรียกนับองค์ประชุมทันที และขอให้เดินหน้าการประชุมต่อไป แต่ได้รับการทักท้วงโดยนายฉัตรพันธ์ จนทำให้นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ซึ่งในท้ายที่สุด นายสมศักดิ์จึงได้ตัดสินใจพักการประชุม
ต่อมาในเวลา 12.00 น. วันเดียวกัน การประชุมร่วมรัฐสภาได้กลับมาประชุมอีกครั้ง หลังใช้เวลาพักไปนาน 35 นาที โดยนายสมศักดิ์ได้ดำเนินการตามญัตติที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อดังกล่าวใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง และได้ใช้เวลาตรวจสอบนานกว่า 10 นาที จนทำให้นายสมศักดิ์ต้องเรียกผลการลงนับองค์ประชุมจากเจ้าหน้าที่ถึง 2 รอบ และเมื่อเจ้าหน้าที่นำผลการนับองค์ประชุมมาให้ นายสมศักดิ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า “ผมขอนัดประชุมร่วมรัฐสภาต่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน เวลา 14.00 น.” โดยที่ไม่ได้เปิดเผยถึงผลการนับองค์ประชุมดังกล่าว รวมเวลาที่ใช้ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 9 ใช้ไปทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม นายบุญยอด ฐานะกรรมการนับองค์ประชุม แจ้งผลว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 319 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องได้จำนวน 325 เสียง จากจำนวนสมาชิกที่มีทั้งหมด 649 คน
"ปู" ประชุม-ปชป.งดแสดงตน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการขานชื่อดังกล่าว พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้อยู่ในห้องประชุม ขณะที่รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมช.พาณิชย์ ไม่ได้แสดงตนในห้องประชุม และระหว่างการขานชื่อพบว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ งดการแสดงตัว และได้เดินออกจากห้องประชุมไปเกือบหมด ยกเว้น นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง นั่งอยู่ที่โต๊ะ แต่เมื่อใกล้ถึงการเรียกรายชื่อได้เดินออกไป ทำให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ตะโกนขึ้นว่า “เขาเดินออกไปแล้วครับ” ขณะที่นายบุญยอด ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการนับองค์ประชุม ได้ตอบรับการเรียกชื่อดังกล่าว ส่วน ส.ว. กลุ่ม 40 เช่น นายสมชาย แสวงการ ที่ร่วมประชุมในตอนแรกก็ไม่ได้แสดงตัวเป็นองค์ประชุม
เปิดชื่อรมต.-ส.ส.โดดร่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้เข้าร่วมขานชื่อเพื่อนับองค์ประชุม เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ที่วิ่งเข้ามาในห้องประชุมหลังการขานชื่อเสร็จสิ้น ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข ติดภารกิจ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ติดภารกิจบรรยายที่ จ.เชียงราย นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ ส.ส.ปทุมธานี นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ และนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากองค์ประชุมล่มนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนถึงกับบ่นเพื่อน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ที่มาไม่ทันขานชื่อ และบางคนมาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมแล้วก็ออกไป ทำให้เมื่อมีการนับองค์ประชุมบางคนก็กลับมาทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ขณะที่เสียง ส.ว.ที่วิปรัฐบาลเคยแจ้งว่าสามารถคุมเสียงได้นั้น หลายคนก็ไม่ได้เดินทางมาตามที่ได้ตกลงกันไว้จนเป็นเหตุให้องค์ประชุมล่มในที่สุด
ส่ง ส.ส.โดดร่มพบ "เยาวภา"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการปิดประชุมร่วมรัฐสภาเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบนั้น นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมวิปรัฐบาลในส่วนของพรรคทันทีที่ห้องประชุมวิปรัฐบาล โดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เผยภายหลังการประชุมว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ขาดประชุมจะถูกเรียกเข้าพบผู้ใหญ่ของพรรค เช่น นางเยาวภาในวันที่ 9 กันยายน เพื่อทำการอบรม ตักเตือน ทั้งนี้ วิปรัฐบาลเห็นว่าต้องมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วย ครั้งนี้จะแค่ตักเตือนแล้วปล่อยไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่
เมื่อถามว่า บทลงโทษจะถึงขั้นไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ นายไพจิตตอบว่า วิปรัฐบาลมีความเห็นว่าต้องทำทัณฑ์บนคาดโทษ หากเกิดขึ้นอีกครั้งก็ต้องเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สนใจ จะอ้างเหตุผลว่าติดภารกิจหรืออะไรไม่ได้ เพราะมันคือความบกพร่อง
ปลดคนเบี้ยวประชุมพ้นวิปรบ.
"ทุกคนทราบดีว่าเป็นการประชุมในเรื่องสำคัญ เห็นอยู่แล้วว่าบรรยากาศในสภามีความขัดแย้ง ต่อสู้กันอย่างหนัก พรรคต้องปรับขบวนให้เกิดความเรียบร้อย ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะทราบข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ต้องให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า โดยจะประชุมต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญรอการพิจารณาอีกหลายฉบับ" นายไพจิต กล่าว
ด้าน นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จำนวน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ขาดประชุมมีทั้งสิ้น 26 คน พรรคร่วมรัฐบาลประมาณ 30 คน ส่วน ส.ว.อยู่ระหว่างตรวจสอบ ทั้งนี้ ผลการประชุมวิปรัฐบาลมีความเห็นว่า วิปรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่ขาดประชุมนั้นจะให้ออกจากการเป็นวิปรัฐบาล เพราะถือว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.นั้นตนขอไม่ก้าวล่วง ทั้งนี้ รู้สึกเห็นใจ ส.ส.เขตเลือกตั้ง เพราะต้องลงพื้นที่ ดังนั้นอาจจะต้องรับฟังเหตุผลประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม หากการนับองค์ประชุมใช้วิธีกดบัตรนั้นเสียงน่าจะเพียงพอ เพราะมี ส.ว.สรรหาบางส่วนที่ออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเป็นการขานชื่อก็ไม่กล้าที่จะแสดงตัว
อัดวิปรัฐแจ้งล่าช้า-ไม่ชัดเจน
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่องค์ประชุมไม่ครบส่วนหนึ่งมาจากการที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประชุมในวันที่ 7 กันยายน หรือไม่ เพราะแจ้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 6 กันยายน แล้ว ทำให้ส.ส.เกิดความไม่แน่ใจและกลับลงพื้นที่กันแล้ว ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ก็มาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมแต่กลับไม่อยู่ในห้องประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้การพิจารณาต้องยืดยาวออกไปอีก