แม่ค้าเล็งรับ"ลูกค้าม็อบ"กลัวตาย...แต่ก็หวังกำไร!
พ่อค้าแม่ค้าริมสนามหลวง รอรับลูกค้าม็อบ เผยเหตุชุมนุมฟันกำไรได้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า แม้จะกลัวตาย แต่ก็ต้องเสี่ยงเพื่อเงิน ระบุเตรียมทางหนีทีไล่ไว้เสร็จสรรพหากเกิดเหตุรุนแรง
ฉันเป็นห่วงแฟน กลัวโดนลูกหลง แต่อีกใจก็คิดว่าน่าจะได้กำไรดี วันนั้นถ้าจะออกไปขายจริงๆ ก็กะว่าจะไม่ใส่รองเท้าแตะ เพราะกลัววิ่งได้ช้า
การนัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ แม้ "ไฮไลท์" ของงานจะอยู่ที่จำนวนผู้ชุมนุม และผลการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาจากการชุมนุมใหญ่ในวันนั้น แต่อีกด้านหนึ่งคนที่ยิ้มกริ่มรอรับคลื่นมหาชนที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ท้องสนามหลวง ย่อมหนีไม่พ้นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ปักหลักขายของอยู่ ณ ท้องสนามหลวง เพราะโอกาสที่คนเรือนแสนเข้ามาชุมนุมกันไม่ได้หากันง่ายๆ
เข้าตำรา "มีฝูงชนอยู่ไหน..มีกำไร (มหาศาล) อยู่ที่นั่น" เป๊ะ !!!
ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" จึงเดินทางไปสำรวจตลาดบริเวณท้องสนามหลวงเพื่อจับกระแสดูว่า เหล่าพ่อค้าแม่ค้าในย่านนั้นเขาเตรียมตัว "ฟันกำไร" กันอย่างไร และคิดเห็นประการใดกับการชุมนุมครั้งนี้
เริ่มจาก นายไพรัตน์ ทองแล้ง อายุ 27 ปี พ่อค้าขายกระเพาะปลา ชาวที่ราบสูง จ.อุบลราชธานี ซึ่งปักหลักขายในย่านสนามหลวง บางลำพู และถนนข้าวสาร มาแล้วกว่า 4-5 ปี
ไพรัตน์ผู้เคยผ่านประสบการณ์ขายของในบริเวณสถานที่ชุมนุมมาแล้วอย่างโชกโชน บอกว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือตามสถานที่อื่นๆ จะขายของดีมากจนเกลี้ยงถัง ไม่ต้องทนแบกของหนักกลับบ้าน บางครั้งขายแทบไม่ทัน และได้กำไรวันละเกือบ 1,000 บาท เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีเยอะ
"วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ผมจะไปขายของแน่นอน และเชื่อว่าคงขายได้ดี แต่ถ้าเข้าไปขายไม่ได้ ก็คงขายไม่ค่อยดีเหมือนกัน ตอนนี้กำลังรอดูอยู่ เพราะเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. ยังไม่ได้บอกว่าจะให้พ่อค้าแม่ค้าไปขายของตรงจุดไหน" ไพรัตน์ กล่าวอย่างรอความหวัง
ด้าน นางลำไย สุวรรณศรี อายุ 54 ปี แม่ค้าขายส้มตำไก่ย่าง หมู่เฮาชาว จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า ขายของมาแล้วหลายปีจนสามารถส่งลูกเรียนหนังสือมาแล้วถึง 5 คน รวมทั้งหลาน 5 คน และลูกพิการอีก 1 คน
ลำไย กล่าวถึงเงินหมุนเวียนในธุรกิจเล็กๆ ว่า ปกติจะขายของรวมต้นทุนและกำไรได้วันละประมาณ 1,000-1,200 บาท แต่ถ้ามีการประท้วงจะขายดีมาก และเคยขายได้เงินสูงสุดถึง 5,000 บาท แยกเป็นกำไรประมาณ 3,000 บาท แต่ก็ไม่อยากให้วุ่นวายหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น
แม่ค้าส้มตำรายนี้ปกติจะเช่าห้องพักอยู่ในย่านพระราม 2 แต่ย่านนั้นไม่มีทำเลหากิน จึงต้องมาขายของที่สนามหลวง ส่วนการชุมนุมเที่ยวล่าสุดนี้ กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะไปขายของดีหรือไม่
"ใจจริงป้าก็อยากไปขายนะ ถึงจะกลัวๆ อยู่บ้าง และถ้าเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ป้าคงต้องรีบเข็นรถออกไปให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเข็นออกไปไม่ทัน ก็ต้องทิ้งรถเอาตัวรอดไว้ก่อน"
"ป้าไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย เพราะต่อให้ได้เงินมากขนาดไหน ถ้ามีใครถูกฆ่าตายก็ไม่คุ้มกัน" ป้าลำไยกล่าวถึงสถานการณ์ร้อนๆ ของบ้านเมืองด้วยความเป็นห่วง
เมื่อถามว่า ใจจริงแล้วสนับสนุนฝ่ายไหน ป้าตอบโดยหยุดใช้ความคิดนิดหนึ่งว่า โดยส่วนตัวแล้วชอบนายกฯ ไม่อยากให้ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่ นางมาลัย ศรีอับศร อายุ 52 ปี แม่ค้าปั่นจักรยานเร่ขายมะขามหวาน และกับข้าวถุง ชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เพราะบ้านอยู่แถวๆ บางกอกน้อย และขายของที่สนามหลวงมาหลายปี แจกแจงถึงงานประจำวันว่า แต่ละวันจะลงทุนประมาณ 100-200 บาท และจะออกเร่ขายของตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ของทุกวัน โดยจะปั่นรถจักรยานไปเรื่อยๆ รอบสนามหลวง หลังศาลฎีกา และริมคลองหลอด แต่ละวันจะได้กำไรหลายร้อยบาท แต่ถ้ามีเหตุประท้วงจะขายได้กำไรมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
"วันนั้นป้าคงขายของเหมือนเดิม แม้จะกลัวอยู่บ้าง แต่ก็ต้องหาเงิน โดยส่วนตัวคิดว่า คงไม่มีเหตุรุนแรงเหมือนพฤษภาทมิฬ เพราะสถานการณ์ต่างกันเยอะ และคนส่วนใหญ่ก็ชุมนุมโดยสงบ แต่ถึงแม้จะขายของได้ดีขึ้นก็ไม่ชอบให้มีการชุมนุม เพราะทำให้บ้านเมืองไม่สงบ"
เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับนายกฯ คนนี้ แม่ค้าจักรยานเร่ บอกว่า โดยรวมแล้วนายกฯ คนนี้ก็ดี แม้จะมีส่วนเสียอยู่บ้าง แต่ใจจริงแล้วก็อยากให้อยู่ต่อ
ส่วน น.ส.เปียทิพย์ แซ่ชิ้ง อายุ 16 ปี บอกว่า ตอนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว จึงมาช่วยแม่ขายเครื่องดื่มในช่วงเย็น และได้กำไรประมาณวันละ 200-300 บาท แต่บางวันก็เคยได้ 500 บาท และจะขายดีเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นวันพ่อ วันแม่ วันแรงงาน วันปีใหม่ หรือวันที่มีการจัดงานที่ท้องสนามหลวง และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ แม่ก็จะให้มาช่วยขายของอีก เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะรุนแรง
นายพร สว่างวัฒนา อายุ 52 ปี พ่อค้าขายทอฟฟี่และบุหรี่ข้างสนามหลวง แต่บ้านจริงๆ อยู่ย่านบางพลัด บอกว่า ปกติจะมาขายของตั้งแต่เช้าถึงเย็น และจะขายได้เรื่อยๆ ไม่ว่าวันหยุดหรือวันธรรมดา ส่วนวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ คงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็เคยไปขายมาแล้ว
ปิดท้ายด้วย นางคำพู ภู่สุวรรณ อายุ 34 ปี หมู่เฮาชาว จ.ร้อยเอ็ดอีกคน แม่ค้าขายโรตีสายไหมและขนมตะโก้ ซึ่งยึดอาชีพนี้มา 10 กว่าปี บอกว่า แต่ละวันจะลงทุนวันละ 500 บาท พอทำแป้งและไส้เสร็จแล้วก็จะแยกกันขายกับสามี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท
ส่วนการประท้วงที่จะมีขึ้นนั้น คำพู บอกว่า ติดตามดูข่าวโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ และกำลังชั่งใจว่าควรจะไปขายของดีหรือไม่ เพราะใจจริงแล้วก็ยอมรับว่ากลัวอยู่บ้าง ส่วนสามียืนยันว่าจะเอาขนมไปขายแน่นอน
"ฉันเป็นห่วงแฟน กลัวโดนลูกหลง แต่อีกใจก็คิดว่าน่าจะได้กำไรดี วันนั้นถ้าจะออกไปขายจริงๆ ก็กะว่าจะไม่ใส่รองเท้าแตะ เพราะกลัววิ่งได้ช้า" แม่ค้าโรตีสายไหม หาทางหนีทีไล่ไว้เสร็จสรรพ
นั่นคือหัวอกของพ่อค้าแม่ค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมชีวิตว่า ตราบใดที่ตัวเองและครอบครัวต้องกินต้องใช้ "กำไร" ที่กวักมือรออยู่เบื้องหน้า ย่อมคุ้มค่าต่อการเสี่ยงภัยอยู่เสมอ !?!?