เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงกลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ครั้งที่ 1/2556 และเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งรมว.กลาโหม โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรอง ผอ.กปต. นายนิวัฒธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองผอ.กปต. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะรองผอ.กปต. นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นางปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง
พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กปต.ว่า การประชุมในช่วงเช้า
ทั้ง สมช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศอ.บต. จะรายงานข้อมูลการดำเนินงานแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งการพัฒนา การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ โดยภาพรวมให้นายกรัฐมนตรีในฐานะรมว.กลาโหม และคณะกรรมการได้รับทราบถึงความคืบหน้าของงาน และในส่วนของ คณะกรรมการพูดคุยสร้างสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะรายงานผลการพูดคุย และยังเห็นว่าควรใช้การพูดคุยต่อ เพราะเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลได้มอบไว้ ซึ่งในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ยังจะต้องหารือนัดวันเวลาพูดคุย โดยทางประเทศมาเลเซีย ยังคงเป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม สำหรับรายงานข่าวที่ว่าฝ่ายความมั่นคงเตรียมเสนอจัดซื้อดาวเทียมหรือโดรน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันพยาน และดูแลความไม่สงบในพื้นที่นั้น ตนยังไม่ยืนยันว่าจะเสนอเรื่องนี้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กปต.ในครั้งนี้จะมีการหารือถึงกรณีที่กลุ่มบีอาเอ็นได้ยื่นข้อเสนอ5ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้
พร้อมทั้งพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวในข้อใดได้บ้าง พร้อมทั้งหาแนวทางปฎิบัติที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทย นอกจากนี้คาดว่าในที่ประชุมจะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการตัดสินคดีประสาทพระวิหารของศาลโลกที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหมจะเชิญผบ.เหล่าทัพมาประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับนายพล เพื่อหารือการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี หลังจากที่เลื่อนมาจากวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาด้วย.