“มาร์ค”ขอนายกฯ มาคุยเรื่องปฏิรูปประเทศไทย ลดความขัดแย้งในที่ประชุมสภา อัดต้องแก้ปัญหาอย่าเอาแต่ท่องสโลแกน เย้ย “อันนัน”ชิ่งมาไทยเหตุรู้จะถูกใช้สร้างความชอบธรรม
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ขอให้ผู้นำฝ่ายค้านเข้าร่วมเวที่เสวนาปฏิรูปประเทศไทยว่า ตนก็อยากจะขอไปยังรัฐบาลว่า ขอให้หยุดสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งได้หรือไม่ ถ้าอยากคุยกันก็มีเวทีสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นหน้าที่ของนายกฯ และตน ที่จะต้องมาประชุมอยู่แล้ว ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่มาประชุม โดยเฉพาะวันที่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของประเทศ และตนก็ของ่าย ๆ ว่า ขอให้เลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมออกไปได้หรือไม่ เพื่อจะได้มีเวทีที่ทุกฝ่ายมาร่วม เพราะไม่ใช่แค่ตนที่คัดค้าน แต่นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังทักท้วง และกลุ่มอื่นๆ ที่ปฏิเสธการเข้าร่วมก็มาจากเรื่องนี้ทั้งนั้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ปฏิเสธเข้าร่วมปาฐกถาเรื่องดังกล่าวนั้น
เห็นว่าก่อนหน้านี้นายโคฟี เคยเดินทางมายังประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีโอกาสได้พูดคุยด้วย และนายโคฟีแสดงท่าทีชัดเจนว่าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนแนวทาง คอป. และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศกับผลประโยชน์ของตนเอง แต่ในวันนี้รัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ คอป. แต่กลับผลักดันผลประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกนั้น ตนก็แปลกใจถ้านายโคฟีเดินทางมาไทยโดยรู้ว่ามีความพยายามจะดึงให้มาเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
เมื่อถามว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ และผู้นำฝ่ายค้านฯ
ขอให้ชะลอกฎหมายนิรโทษกรรมออกไปก่อน เพราะไม่สอดคล้องไม่เหมาะสม หากนิรโทษกรรมแบบนี้จะส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่านายกฯ คงต้องพูดว่ามีอะไรให้มาพูดกันหรือเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา ซึ่งเวลานี้ไม่อยากให้นายกฯ ท่องคำพูดที่ไม่ตรงกับสถานการณ์ อยากให้แก้ปัญหาจริงๆ ซึ่งนายกฯ ควรทบทวนว่าเหตุใดองค์กรตั้งแต่ระดับสหประชาชาติ จนถึงคปก. และหลายคนที่รัฐบาลเชิญร่วมปฏิรูปการเมือง มีข้อเสนอเช่นนี้ แต่ทำไมนายกฯ ไม่พิจารณา ซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองไม่ใช่มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายเดียวที่ไม่เข้าร่วม แต่มีหลายคนและมีผู้ใหญ่บางท่านแสดงจุดยืนแล้ว และไม่จริงที่จะโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกเรียกร้องให้ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออก
หลังจากเปิดเผยผลสรุปคดีความรุนแรงในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ปี 53 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม ทำให้เกิดความกลัวในการปฏิบัติหน้าที่ อยากถามว่ารัฐบาลอยู่ที่ไหน เหตุใดไม่คิดจะคุ้มครองปกป้ององค์กรเหล่านี้ หรือว่ารัฐบาลสนับสนุนให้ทำอย่างนี้ ปรากฎการณ์ที่เราเห็นอยู่ ทั้งเรื่องการตรวจสอบการเล่น Line คดีของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การข่มขู่คุกคามองค์กรอิสระ มันไปในทิศทางเดียวกัน สวนทางกับคำว่าปรองดองและหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง.