สู้คดีหนุนเขมรขึ้นเขาพระวิหาร เพื่อชาตินพดลยื่น2ล.ประกันตัว

สู้คดีหนุนเขมรขึ้นเขาพระวิหาร เพื่อชาตินพดลยื่น2ล.ประกันตัว

วันนี้ 2 ส.ค.56 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ

  นายเอกชัย ชินณพงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คนออกนั่งบัลลังก์นัดสอบคำให้การจำเลย คดีดำ อม.3/2556 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
               
กรณีที่ นายนพดล ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.51
 
ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 190 โดยศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง แล้ว  สอบถามจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่า จำเลยแถลงให้การปฏิเสธ โดยจำเลย ขอขยายเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมอีก 
               
องค์คณะฯพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยขยายเวลายื่นคำให้เป็นลายลักอักษรเพิ่มเติมภายใน 60วัน

หากไม่ยื่นตามกำหนดให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจ และให้นัดตรวจพยานหลักฐานโจทก์-จำเลยในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น.โดยให้คู่ความสองฝ่ายยื่นแสดงบัญชีพยานภายใน14วันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าวและให้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นการนำสืบโต้แย้งพยานหลักฐานภายใน7วัน ก่อนวันนัด
               
รวมทั้งอนุญาตให้จำเลยปล่อยชั่วคราว ตามคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินโดยตีราคาประกัน  2 ล้านบาท  พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ภายหลังนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศและที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า
 
วันนี้ตนได้ให้การปฏิเสธต่อศาลในข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ฟ้องทุกประการ ว่าไม่ได้กระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตาม มาตรา 157 โดยขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำลงไปเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ

“มั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องเพราะทำเพื่อปกป้องดินแดนของไทย และยังมั่นใจในพยานหลักฐาน ที่จะมีทั้งพยานบุคคลและพยานผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งความเห็นของนักกฎหมายหลายท่าน ที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยคดีนี้ตนมีพยานบุคคลจำนวนมากที่จะนำเข้าไต่สวน เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ  เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ. พร้อมทั้งจะนำพยานเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ และแผนที่ทางการทหาร ยื่นต่อศาลด้วย" นายนพดลกล่าว
               
เมื่อถามว่าคดีนี้เท่ากับว่า นายนพดล ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงนามในแถลงการณ์เพียงแต่ต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องความผิด ตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 190 ใช่หรือไม่

นายนพดล กล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็รับได้ว่ามีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมจริง แต่เป็นการเพื่อประโยชน์ชาติ ซึ่งครั้งนั้นตนได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการต่างประเทศว่า แถลงการณ์นั้นไม่ใช่ลักษณะของหนังสือสนธิสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ระบุว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาก่อน ซึ่งตนไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมายในมาตราดังกล่าว ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ตนก็จะนำมาประเด็นต่อสู้ต่อไปเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์