นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องการการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะหวังการส่งออกเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และหากการลงทุนล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
แต่ยืนยันว่า ร่างพรบ.เงินกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะไม่กระทบกับระดับหนี้สาธารณะเกิน 50% ของจีดีพี เนื่องจากทยอยการลงทุน และการเบิกจ่ายขึ้นกับความพร้อมของแต่ละโครงการ นอกจากนี้ ร่างพรบ.ยังสอดคล้องกับภารกิจในการพัฒนาประเทศและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
“แม้ว่ากรอบวินัยทางการเงินการคลังกำหนดกรอบหนี้สาธารณะไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แต่รัฐบาลจะไม่กู้เต็มเพดาน เพราะต้องเผื่อไว้กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น โดย10% ที่ยังเหลือดยู่คิดเป็นวงเงินสูงถึง 1 ล้านล้านบาท และยืนยันว่าจะกู้เงินเป็นสกุลเงินบาทในประเทศเป็นหลัก ส่วนสภาพคล่องในระบบของไทยมีสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และหากจะกู้ 1.15 ล้านล้านบาทยังไม่ได้กระทบต่อตลาดการเงิน ดังนั้นได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศหรือธปท.หารือกับสถาบันการเงินว่าไม่จำเป็นต้องเร่งระดมเงินฝากในช่วงนี้”
ทั้งนี้มั่นใจว่า ร่างพรบ. จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฏร และสามารถดำเนินการได้ตาม กรอบการลงทุนระยะเวลา 7 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 63 โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าทำความเข้าใจกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลจากการลงทุนในครั้งนี้ จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงไม่น้อยกว่า 2% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15.2% และยังมีสัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดนรถยนต์ลดลงจาก 59% เหลือ 40% ซึ่งในส่วนของระบบรางนั้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยความเร็วเฉลี่ยของรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยขาดความต่อเนื่องการลงทุนมานานอย่างให้เร่งดำเนินการโดยเร็วและเอกชนยินดีร่วมมือกับภาครัฐ สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม