กลุ่มต้านฯ'นิรโทษฯ'สตาร์ทเครื่องเตรียมเคลื่อนพล ขณะที่'กองทัพปชช.'ระดมพลเข้ากรุง 4 ส.ค.นี้ หวังโค่นระบอบทักษิณ ด้าน'วิสุทธิ์'ขนตร.600 นาย เข้มรัฐสภา
25 ก.ค. 56 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ในวันนี้แกนนำกลุ่มจะมีการนัดหมายและหารือถึงการกำหนดวันที่จะมีการประชุมแกนนำอย่างเป็นทางการเพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองหรือความขัดแย้งระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะไม่รุนแรงเท่ากับการชุมนุมเพื่อต่อต้านร่างพรบ.ว่าด้วยความปรองดอง พ.ศ... ฉบับที่ พล.อ.สนธิ บญยรัตกลิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ กับคณะเป็นผู้เสนอ ที่มีสาระสำคัญเพื่อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอย่างเป็นทางการของแกนนำพันธมิตรฯ จะมีการพิจารณาของเนื้อหาสาระ และหากเข้าข่ายตามเงื่อนไขของกลุ่มพันธมิตรฯ เช่น ออกกฎหมายล้างผิดให้กับ พ.ต.ทักษิณ อาจจะมีการระดมมวลชนออกมาชุมนุมคัดค้านต่อไป
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มเสื้อหลากสี กล่าวว่า ตนไม่ใช่แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ทั้งนี้มวลชนที่มารวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ผ่านมาล้วนมีความเป็นอิสระ ดังนั้นเชื่อว่าในประเด็นการพิจารณาร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ของสภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ จะมีการชุมนุต่อต้านที่หน้ารัฐสภาช่วงวันที่ 5 - 8 ส.ค. นี้อย่างแน่นอน เพื่อคัดค้านไม่ให้มีการผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยละเลยการพิสูจน์ความจริง หรือข้อมูล ข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าความพยายามออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น เพื่อต้องการกลบความจริงที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเปิดเผย เช่น ใครกันแน่ที่เป็นผู้ยิงประชาชนในวัดปทุมฯ ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า จะมีการดำเนิการกับมวลชนที่มาขัดขวางการประชุมสภาฯ ตนขอเรียกร้องให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่อนุญาตให้เฉพาะคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลชุมนุมหน้ารัฐสภาได้ แต่คนที่มาชุมนุมเพื่อคัดค้านและปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่สามารถอยู่หน้ารัฐสภาได้
นายสุริยะใส กตศิลา กลุ่มกรีน โพลิติก กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ทางเครือข่าย จะมีการจัดเสวนาทางวิชาการ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เกี่ยวกับประเด็นการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวจะมีการสรุปถึงทิศทางว่าเครือข่ายจะมีการเคลื่อนไหวต่อประเด็นการคัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างไร
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นส่วนตัวมองว่าการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว เพื่อต้องการที่จะกลบความจริงที่ทุกฝ่ายของสังคมอยากรู้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญต่อประเด็นของการสร้างความปรองดองที่แท้จริง เบื้องต้นเชื่อว่า การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในสภา จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและมีความรุนแรง การเผชิญหน้ามากกว่าเดิม เพราะฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนต่างมีมวลชนเป็นของตนเอง
ด้านพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร กลุ่มไทยสปริง กล่าวว่า แน่นอนว่าทางกลุ่มจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวภายนอกสภา และคาดว่าจะมีการไปรวมตัวกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อให้การต่อต้านเรื่องนี้มีพลัง ส่วนเหตุผลที่คัดค้านเพราะเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้อาชญากรได้รับการยกโทษ โดยไม่สนใจในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามการออกมาเคลื่อนไหวของมวลชนรอบที่จะเกิดขึ้นนั้น ตนเป็นห่วงเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนสองฝ่าย แต่หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสีย ก็เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่สิ่งที่ภาคประชาชนจะต้อรับผิดชอบ
"ส่วนเหตุการประชาชนชาวบัลแกเรียชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาบัลแกเรียเพื่อแสดงความไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล อาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจที่จะทำให้การชุมนุมรอบนี้มีคนออกมาร่วมมากขึ้น แต่เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร คนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตนไม่สามารถเดาใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ แต่หากมันจะเกิดการเผชิญหน้าก็เลี่ยงไม่ได้" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต
นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 ในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ทางกลุ่มของตนไม่เคยจะขัดแย้ง หรือจะไปขัดขวางร่างพรบ.นิรโทษกรรมของใครๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างของนายวรชัย ที่เสนอ หรือร่างพรบ.ของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้เสนอเอาไว้ จุดยืนและข้อแตกต่างของร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่กลุ่มของตนเสนอและพยายามผลักดัน คือ อยากจะให้มีการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะในระดับผู้ปฎิบัติหน้าที่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินว่าจะต้องรับโทษหรือไม่ต้องรับโทษ กลุ่มตนไม่อยากให้มีนิรโทษกรรมแบบเหมายกเข่งดังเช่นในตัวร่าง พรบ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย และร.ต.อ.เฉลิม
"สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนนั้น กลุ่มตนคงจะไม่มีการเคลื่อนไหวแสดงพลังอะไร เพราะกลุ่มตนไม่มีอำนาจหรือมีพลังอะไร สิ่งที่กลุ่มตนทำได้คือ การเดินทางของเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน แต่เราจะไม่ขอความช่วยเหลือจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากทั้งสองพรรคดังกล่าวถึอว่ามีส่วนได้ส่วนเสียจากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวนี้ด้วย" นายณัทพัช กล่าว
ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวในประเด็นที่จะป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน ระหว่างที่สภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า ต้องนำเรื่องมาพูดในสภาฯ เพื่อหาจุดหรือประเด็นที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับร่วมกัน เข้าใจว่าในประเด็นเรื่องออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีหลายจุดที่เห็นแตกต่างกัน แต่การที่นำเรื่องมาคุยกันในสภาฯ และตกผลึกในจุดที่ร่วมกันได้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ที่สำคัญแต่ละฝ่ายต้องคุยกัน
พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ใช่คัดค้านตัวกฎหมาย แต่ไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทย ซึ่งฝ่ายคัดค้านเขาไม่ต้องการให้กลับ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยอยากให้กลับ จึงเชื่อว่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะสู้กันอย่างแน่นอน แต่ส่วนตัวมองว่าหากนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เป็นผู้ตัดสิน หรือสอบสวนจะเกิดประโยชน์มากกว่า