'ปชป.'บี้'ปู'เรียกเชื่อมั่นข้าวไทย
'ปชป.' บี้ 'นายกฯ' เร่งบูรณาการข้าวจริงจัง เชื่อขายข้าวราคาตลาดรัฐแบกหนี้อ่วม ย้ำต้าน 'กม.นิรโทษฯ' ฉบับ 'วรชัย' ทั้งในและนอกสภา
22 ก.ค. 56 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้มีความสับสนว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว ล่าสุดมูลนิธิชีววิถี ออกมาเปิดเผยว่า ข้าวที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล หรือ CODEX (โคเด็กซ์) ไม่สามารถถูกกำจัดโดยการซาวข้าว ล้างน้ำ หรือการหุงต้ม ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ควรออกมาสร้างภาพ โดยการชิมข้าวโชว์ แต่ควรเร่งออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง มากกว่าการประชาสัมพันธ์ว่าสารตกค้างไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีก็มีน้อย
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีสารตกค้างมาก เพราะมีการรมสารหลายครั้งนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นจากการรมสารเหล่านี้หลายครั้ง ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นปัญหานี้เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวจริงๆ เพราะโครงการรับจำนำข้าว มีการจำนำข้าวมาก ราคาสูง และระบายข้าวออกไม่ได้ เมื่อระบายข้าวออกไม่ได้ก็ต้องเก็บข้าวไว้ในสต็อกโรงสีเป็นเวลานาน สุดท้ายจึงต้องรมสารดังกล่าวในแต่ละครั้งมากกว่าปกติ
"ดังนั้น เรื่องนี้คือสาเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องออกมาแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และเรื่องนี้เป็นปัญหาที่นายกฯ เคยพูดว่าจะต้องบูรณาการมาเป็นล้านครั้ง จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้ในครั้งนี้ และนายกฯ มีโอกาสที่จะใช้คำว่าบูรณาการให้เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีข่าวออกมาว่าตลาดส่งออกข้าวไทย จะกลับมาครองอันดับ 1 เนื่องจากอินเดีย และเวียดนามมีปัญหา จะทำให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อ เพราะมีตลาดรองรับหรือไม่ นายชวนนท์ ย้อนถามว่า เป็นรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) หรือไม่ เพราะรายงานของเอดีบี ระบุว่า ปีนี้ประเทศไทยต้องมีการระบายข้าวออก เนื่องจากเก็บสต็อกมานาน แต่คำถามก็คือ เขาระบุว่าระบายออกที่ราคาตลาด ซึ่งหมายความว่าเราต้องแบกภาระการขาดทุนอีกจำนวนมหาศาล อยากถามว่ารัฐบาลจะหางบประมาณมาปิดช่องการขาดทุนตรงนี้ได้อย่างไร ตนไม่แปลกใจ เพราะถ้าขายที่ราคาตลาดก็ระบายได้อยู่แล้ว แต่จะระบายได้เมื่อไร และขาดทุนเท่าไรและจะระบายให้ใคร คนที่จะนำข้าวไปจะเป็นเอกชนหรือจะเป็นรัฐต่อรัฐอย่างที่กล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องจับตา เพราะมีข่าวว่ามีการระบายข้าว ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แล้วให้เอกชนที่สนิทกับรัฐบาลนำข้าวไปขายในราคาตลาด ซึ่งค้ากำไร 1-2 เท่า เรื่องนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงที่รัฐบาลจะต้องนำมาเปิดเผยรายละเอียดตรงนี้ให้ชัดเจน
นายชวนนท์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลระบุว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ตนคิดว่าไม่มีปัญหาถ้ารัฐบาลทำได้ เพราะฝ่ายค้านก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ถ้าทำต้องทำที่ราคา 15,000 บาท การที่รัฐบาลจะพิจารณาลดราคาลงมาต่ำกว่า 15,000 บาท ก็เพราะว่ารัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอ และถ้าระบายข้าวล็อตนี้ที่อยู่ในสต็อกออกไปแล้วขาดทุน ตนไม่คิดว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะรองรับทำโครงการนี้ต่อ
ย้ำต้าน 'กม.นิรโทษฯ' ฉบับ 'วรชัย' ทั้งในและนอกสภา
นายชวนนท์ แถลงถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ว่า วันเปิดสมัยประชุมฯตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 ส.ค. คงเป็นการตอบกระทู้ แต่พรรคขอเรียกร้องว่า ในวันที่ 1 , 7 และ 8 สิงหาคมขอให้มีการพิจารณาแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 2 ปี เพื่อให้ประชาชนรับทราบ เพราะขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินงานแล้ว ส่วนวันที่ 14 - 15 ส.ค. ให้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยออกไป ก็ขอให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสียสลายชุมนุม เม.ย.- พ.ค. 2553 ด้วย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยินดีเข้าร่วม โดยมีการหารือหรือเจรจาหรือปรับแต่งถ้อยคำนอกรอบ เพื่อเดินหน้าปล่อยประชาชนทุกสีเสื้อ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับญาติวีรชน ต้องไม่ล้างผิดให้ผู้ที่ละเมิดสถาบันทำผิดมาตรา 112 คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และคนที่เผาสถานที่ราชการ ใช้อาวุธฆ่าประชาชน
"หากรัฐบาลเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย และปฏิเสธร่างพ.ร.บ.นิรโทษ ฉบับประชาชน บ้านเมืองก็จะเดินหน้าเข้าสู่ความขัดแย้งแน่นอน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะต่อต้าน เพื่อชะลอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยทั้งในและนอกสภา ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธกฎหมายฉบับประชาชนก็เพื่อต้องการล้างผิดให้ตัวการใช่หรือไม่ พรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกได้ว่าจะเดินข้างประชาชน หรือเดินตามผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง"
อัด 'ปลอด' สร้าง 'เขื่อนยมบน-ล่าง' แค่ปัดฝุ่นโครงการเก่ากรมชลฯ
นายชวนนท์ แถลงถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนยมบนและยมล่าง ในแม่น้ำยม จังหวัดแพร่ ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่เดือน ม.ค. 55 ว่า ในเวลาดังกล่าวยังไม่ได้อนุมัติเงิน อยากถามว่าในปี 55 ช่วงที่ทำประชาพิจารณ์ทราบแล้วหรือว่าจะสร้างกี่เขื่อน กี่อ่างเก็บน้ำ กี่ทางน้ำไหล แล้วนายปลอดประสพ เอาข้อมูลอะไรและจากที่ไหนไปหลอกประชาชน
"นี่เป็นการทำประชาพิจารณ์แบบเซ็นวันที่ย้อนหลัง วันนี้เพิ่งบอกจะจ้างประเทศจีน ญี่ปุ่นมาศึกษาข้อมูลและหาผลกระทบ แต่ย้อนไปเมื่อปี 55 ท่านเอาข้อมูลจากไหน นี่เป็นการสร้างเรื่องเพื่อจะได้นำไปบอกประชาชนและศาลปกครองว่ามีการทำประชาพิจารณ์ในอดีต ซึ่งไม่จริง"
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะพ.ร.ก.น้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นเพียงการนำเอาแผนงานของกรมชลประทาน มาจัดหีบห่อและเรียบเรียงใหม่ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างเขื่อนยมบนและยมล่างอยู่แล้ว และต่อไปตนเชื่อว่าจะมีเขื่อนแม่วงก์ด้วย โครงการเหล่านี้สามารถใช้งบประมาณระบบปกติก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลยกโครงการก่อสร้างดังกล่าวออกจากแผนงานของกรมชลฯแล้วนำมาใส่ไว้ในพ.ร.ก. ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา และเปิดช่องให้ทุจริตได้ง่าย ซึ่งนี่คือคำตอบว่าทำไมรัฐบาลถึงออกเป็น.พ.รก.น้ำ 3.5 แสนล้านบาท
"เมื่อสร้างเขื่อนแบบนี้ถามว่าทำไมต้องใช้บริษัทเค วอเตอร์ หรือบริษัทต่างประเทศ ทั้งที่เรากำลังจะปัดฝุ่นโครงการในลิ้นชักของรัฐบาลไทย สุดท้ายโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และบริษัทเค วอเตอร์ไม่ต้องคิดอะไรให้"