นายจตุพร กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนไปยังรัฐบาลว่า สถานการณ์เวลานี้ของรัฐบาลไม่ปลอดภัย ทั้งกรณีศาลปกครองวินิจฉัยให้โครงการบริหารจัดการน้ำต้องผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ และฝ่ายตรงข้ามใช้โอกาสยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้งอกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีส.ส., ส.ว. 312 คน ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ชัดเจนว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกำลังใช้องค์กรอิสระในการล้มรัฐบาล
เพราะแน่นอนว่าไม่มีฝ่ายตรงข้ามใดยอมให้รัฐบาลถือเงินมหาศาลรวมกว่า 5 ล้านล้านบาท จากงบประมาณโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 กว่า 2.5 ล้านล้านบาท
“เพราะในวันที่รัฐบาลไม่มีทั้งเงิน ไม่มีอำนาจ มีแต่พลังประชาชน ยังสามารถล้มขั้วอำมาตย์ได้ และถ้าวันนี้รัฐบาลมีทั้งพลังประชาชน มีทั้งเงิน ทั้งอำนาจ ฝ่ายตรงข้ามจะยิ่งล้มยากขนาดไหน เพราะฉะนั้นฝ่ายนั้นเขาไม่ยอมแน่” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวเรียกร้องว่า ดังนั้นในสมัยเปิดประชุมสภาเดือน ส.ค.นี้ ขอย้ำว่าให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ เเละ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประปี 2557
อย่ากลัวการข่มขู่ของฝ่ายค้านจนเลื่อนร่างนิรโทษฯไว้ทีหลัง เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายมีเวลาพิจารณา 120 วัน ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน ถึงวันที่ 1 ต.ค. แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสามารถพิจารณารวดเดียว 3 วาระใช้เวลาไม่เกิน 3 วันเสร็จสิ้น
เชื่อว่าไม่กระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.ไม่เหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องเว้นระยะเวลาพิจารณา
ดังนั้นขอให้รัฐบาลรักษาน้ำใจประชาชน เร่งช่วยเหลือนักโทษการเมืองออกมา เพื่อให้ประชาชนมีกำลังใจออกไปปกป้องรัฐบาล ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 นั้นสามารถเสนอได้ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นายจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า กรณีองค์กรอิสระที่เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลนั้น ไม่ใช่มีเพียงโครงการบริหารจัดการน้ำที่น่ากังวล
แต้โครงการรับจำนำข้าวก็น่าจับตาเช่นเดียวกันเพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของ ปปช. โดยอยากให้จับตาการครบวาระการดำรงตำแหน่งของนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ปปช.ว่าจะมีนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังมาเสียบตำแหน่งกรรมการ ปปช.แทนหรือไม่ และจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างไร
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า การลาออกของนายวสันต์นั้นสามารถมองได้หลายรูปแบบ ประการแรก คือ
เป็นเรื่องภายใน การลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมมนูญอาจเป็นเรื่องของสมบัติผลัดกันชม หวังผลเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ส่วนประการที่สอง คือ มองได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง ตั้งข้อสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางภารกิจเสร็จสิ้น มีการตกลงเตรียมการในการวินิจฉัยคดีหลังจากนี้เรียบร้อยแล้วหรือไม่
โดยน่าสังเกตว่านายวสันต์เคยเป็น 1 เสียงตุลาการที่ให้ความเห็นในคำวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจของรัฐสภา
ดังนั้นหากหลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น การพิจารณาคดี 2 ครั้งจะไม่สอดคล้องกัน จะเป็นยากต่อการอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะนายวสันต์เคยลงความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวก่ายตั้งแต่แรก