นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปฝ่ายค้าน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค เรื่อง"คลิปเสียง"
ที่รัฐบาลพยายามที่จะขอให้ฝ่ายค้านเลิกให้ความสนใจว่า ไม่สามารถที่จะละเลยไม่ให้ความสนใจไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ เกี่ยวพันกับเรื่องของการล้างผิดทำลายระบบนิติรัฐของประเทศ และเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน
ซึ่งกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสำหรับผู้บริหารราชการแผ่นดิน
นอกจากนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยในอนาคต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะลอยตัวซื้อเวลาหรือหนีความรับผิดชอบไม่ว่าจะในฐานะนายกฯ หรือรมว.กลาโหมต่อไปอีกไม่ได้ ในส่วนของวิปก็ขอเรียกร้องให้นายกฯ ได้ตอบคำถาม
อย่างน้อย 2 ข้อคือ 1.จะดำเนินการสอบสวนในเรื่องของจริยธรรมของข้าราชการการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคลิปเสียงนี้หรือไม่ และจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
“ในฐานะนายกฯ และรมว.กลาโหมที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายกระทำผิดระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นก็ 4 ข้อคือ ข้อ 12 ข้อ 14 ข้อ 16 แล้วก็ข้อ 28 นายกฯมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกฯแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ให้นายกฯ ดำเนินการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ ซึ่งจะขอคำตอบจากนายกฯว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ตามระเบียบฉบับนี้”
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า 2. นายกฯจะเสนอหรือยอมให้มีการใช้สภากลาโหมไปเพื่อการพิจารณาพระราชกำหนดนิรโทษกรรมหรือไม่ ในฐานะที่เป็นรมว.กลาโหมและเป็นประธานสภากลาโหม เพราะปลัดกลาโหม ได้ออกมาระบุว่าสามารถที่จะใช้สภากลาโหมพิจารณาเรื่องนี้ได้หาก รมว.กลาโหมกำหนดให้เสนอ
ซึ่งก็จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมมาตรา 43 ข้อ 6 เพราะฉะนั้นเพื่อขจัดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่พี่น้องประชาชน จะต้องให้คำตอบเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน
“หากจะมีการออกพระราชกำหนดในเรื่องนี้จริงๆ ขอเรียนให้ทราบว่าในส่วนของฝ่ายค้านก็จะดำเนินการทั้งสองทาง คือจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบความชอบหรือไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้หากจะออกเป็นพระราชกำหนดก็จะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่มีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนหรือรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้แต่ประการใด ซึ่งจะมีการยื่นถอดถอนนายกฯและครม.ที่มีความเห็นชอบให้ออกเป็นพระราชกำหนด ทั้งนี้ก็ถือว่าจงใจกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ”