อินเวสไวน์ เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านการเงิน การลงทุนและไลฟ์สไตล์ในอาเซียน เปิดเผยบทความกึ่งวิเคราะห์ตีแผ่ "จุดอ่อน" ของประเทศไทย 10 ประการ ซึ่งเป็นตัวการฉุดรั้งขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีประชาคมอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จุดอ่อนประการแรกของไทย คือ "ความอ่อนแอของรัฐบาล" โดยรายงานระบุว่า การดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรนับตั้งแต่ปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันคือรัฐบาล ‘หุ่นเชิด’ ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่คอยสั่งการอยู่เบื้องหลังจากต่างประเทศ
“นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือต่อประชาชนได้ และไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติโดยตรง” อินเวสไวน์ระบุ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ยังมีการโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีกันอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 แล้วนับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศในปี 2554 เพื่อเปิดทางให้กลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อทักษิณขึ้นมามีอำนาจมากขึ้นตามใบสั่งของทักษิณ ทำให้คณะรัฐมนตรีที่ขึ้นมาบริหารงานเพียงวาระสั้นๆ ยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเพื่อชาติได้เลย และความอ่อนแอของรัฐบาล ก็นำมาซึ่งจุดอ่อนประการที่ 2 "การเมืองไร้เสถียรภาพ"
อินเวสไวน์ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในปีนี้ อาจเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ขั้วที่ต่างฝ่ายต่างระดมพลออกมาแสดงความต่อต้านซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นแรงกดดันให้อาจเกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเผชิญอยู่กับ ‘ปัญหาคอรัปชั่น’ ที่ปรากฏอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลอกลวงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปจนถึงการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีฐานะและมีอิทธิพลในสังคม
“โครงการพัฒนาและลงทุนใดๆจะมีความคืบหน้าต่อเมื่อมีการติดสินบน และที่น่าแปลกใจว่านั้นคือ จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนมองว่าการติดสินบนเป็นเรื่องที่รับได้” อินเวสไวน์ระบุ
นอกเหนือจากประเด็นการเมือง จุดอ่อนของไทยที่ปรากฏอย่างเด่นชัด ก็คือ "ปัญหาด้านแรงงานที่มีทักษะต่ำ"
รายงานอ้างคำวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเงินและภาคบริการ ที่ต่างระบุว่า แรงงานไทยมีทักษะความสามารถต่ำ ไล่ตั้งแต่การขาดความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงไร้ความสามารถด้านการจัดการ อันเป็นผลจากระบบการศึกษาของไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน และรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมให้มีการอบรมเพิ่มขีดศักยภาพแรงงานไทยอย่างเพียงพอ
เช่นเดียวกับ "ทักษะภาษาอังกฤษ" ของแรงงานไทย ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านธุรกิจและการท่องเที่ยวของไทย ทว่ารัฐบาลยังคงนิ่งเฉยในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ความสามารถการแข่งขันและผลิตภาพของอุตสาหกรรมไทย ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
“ไทยควรยกระดับสถานะจากการเป็นแหล่งผลิตและประกอบสินค้าคุณภาพต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราแรงงานขั้นต่ำขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งเสริมศักยภาพแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อรับมือกับสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นจากการเปิดประชาคมอาเซียน” รายงานระบุ
ไม่เพียงเท่านี้ “ระบบจัดการภาคการเงินของรัฐบาลไทยเข้าข่ายไร้คุณภาพ” พิสูจน์ได้จากความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการออกนโยบายทางการเงินและการคลัง สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพทางการเงินของชาติ ที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติโดยตรง
นอกจากนี้ อินเวสไวน์ ยังมองอีกว่า ไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเกินไป เห็นได้จากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวอย่างไร้ข้อจำกัด
ความเคลื่อนไหวนี้ ส่งผลให้คุณภาพของการท่องเที่ยวต่ำลง นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบจากการโก่งค่าบริการ ตลอดจนเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งจะสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับประเทศในระยะยาว
และจุดอ่อนประการสุดท้ายของไทย คือ การที่คนไทยส่วนใหญ่ มัก "เมินเฉยต่อโลกภายนอก"
รายงานดังกล่าว ระบุว่า อาจเป็นเพราะไทย ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ จึงส่งผลให้ไทย ไม่เคยเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับวัฒนธรรมต่างชาติ ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นผลเสียต่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในที่สุด