'กล้านรงค์' แถลงความคืบหน้า กรณีสอบทุจริต 'จำนำข้าว' ตรวจเส้นทางการเงินผ่านแคชเชียร์เช็ค 1,460 ฉบับ
นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้แถลงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวภายหลังจากที่มีสื่อมวลชนให้ความสนใจและสอบถามมายัง ป.ป.ช. มาเป็นจำนวนมาก โดยการทำงานของ ป.ป.ช.ในขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และ 2. การระบายข้าว
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นการดำเนินโครงการ ป.ป.ช.ได้ขอเอกสารไปยังส่วนราชการต่างๆ ซึ่งป.ป.ช.ได้รับเอกสารแล้วจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย
1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เกี่ยวกับมติของครม.ทุกครั้ง
2. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มอบข้อมูลทางวิชาการของโครงการดังกล่าว
3. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งรายงานความคิดเห็นในเชิงวิชาการ
4. กระทรวงการคลัง โดย ป.ป.ช.ได้รับทั้งในส่วนที่เป็นความคิดเห็นและข้อมูลการปิดบัญชีโครงการจับนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล
5. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นรายงานข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศ
6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องข้อมูลทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกประจำปี 2554/2555 และ
7. กระทรวงพาณิชย์ ทาง ป.ป.ช.ได้รับหลายส่วนทั้งการดำเนินโครงการและการระบายข้าว ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้สอบพยานบุคคลไปแล้วทั้งหมด 11 ปาก เช่น ฝ่ายผู้ร้อง ตำรวจ องค์การคลังสินค้า (อคส.) น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งนักวิชาการ
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ประเด็นการระบายข้าว ป.ป.ช.ได้ขอและได้รับเอกสารข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ได้แก่
1. สำนักงานสลค. คือ มติครม.เกี่ยวกับการระบายข้าวทุกครั้ง
2. อคส.ส่งมอบข้อมูลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร
3. ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งข้อมูลมาให้ ป.ป.ช.เกี่ยวกับแคชเชียร์เช็คตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องที่ได้ส่งมาให้ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้
4. กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำเอกสารชี้แจงการระบายข้าว
5. กรมศุลกากร แจ้งข้อมูลการส่งออกข้าวจำนวน 3 ครั้ง และ
6. กรมการค้าต่างประเทศ
โฆษก ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ในการสอบปากคำพยานในประเด็นการระบายข้าว ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไปแล้ว หลายราย อาทิ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
ที่สำคัญจากการไต่สวนทั้งหมด ป.ป.ช.พบว่ามีข้อมูลความเคลื่อนไหวของทางธนาคาร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งแคชเชียร์เช็คที่เกี่ยวกับการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี มาให้ ป.ป.ช.ทั้งหมด 1,460 ฉบับ โดยในแคชเชียร์เช็คจำนวน 1,460 ฉบับนี้ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบย้อนหลังกลับไปพบว่าออกมาจากธนาคาร 6 แห่ง
ซึ่งป.ป.ช.กำลังสอบสวนกลับไปอีกว่าบุคคลที่ซื้อเช็คในแต่ละฉบับนี้มีใครบ้างและซื้อจากบัญชีใดบ้างและจะต้องสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อแคชเชียร์เช็คด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวอย่างไร
ในขั้นตอนนี้ยอมรับว่าต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะมีแคชเชียร์เช็คมีจำนวนมากและกระจายอยู่ถึง 6 ธนาคาร ขณะเดียวกันก็กำลังขอเอกสารในการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเพิ่มเติมด้วย
"ยืนยันว่าการทำงานไม่ได้ล่าช้า ป.ป.ช.รวบรวมข้อมูลได้บางส่วนแล้ว แต่ปัญหาคือแคชเชียร์เช็คจำนวนดังกล่าวเราจำเป็นต้องย้อนกลับไปตรวจสอบทุกฉบับว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร"