ศาลปค.สั่ง!ปูรับฟังปชช.ก่อนจัดการน้ำ

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก


ศาลปกครอง'สั่งรับฟังความเห็นประชาชนก่อนเซ็นสัญญาโครงการน้ำ

 

              

 27 มิ.ย.56 นายตรีทศ นิครธางกูร ตุลาการศาลปกครองกลางเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 6 คน นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 940/2556 ในคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านในพื้นที่ กทม. , ปทุมธานี และอยุธยา รวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ ( กยน.) , คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ( กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ( กบอ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่อง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบ กรณีที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรี และ กยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ยังได้ใช้อำนาจทางปกครองของฝ่ายบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เร่งรีบจนเกินความจำเป็นอย่างไม่มีเหตุผลในการรองรับ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ออกมาบังคับใช้ทันที หลังจากได้แถลงข่าวเรื่องการจัดทำแผนแม่บทฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 ทั้งที่โดยสภาพของการดำเนินงานที่แท้จริงแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นหรือเหตุผลเพียงพอที่จะออก พรก.ดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องยึดถือเงินเป็นตัวตั้ง ทั้งที่ยังไม่ทราบเลยว่าจะมีรายละเอียดของโครงการหรือกิจกรรมใดเกิดขึ้นได้จริงบ้าง แต่กลับเร่งรีบออกกฎหมายกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

               

โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้องและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ และส่งเสริมสิทธิหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพย์ยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ยั่งยืนและเกิดความมั่นคงทางนิเวศ และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน ตามมาตรา 7 พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเดือนร้องเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ส่วนผู้ฟ้องที่ 2 -45 ก็ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหาย ที่มีสิทธิฟ้องคดีเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนของประชาชน ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องดังกล่าว ก็ได้โต้แย้งไว้ในเรื่องสิทธิข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นคดีไว้

               

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่า การจัดทำแผนแม่บทฯ ของ กยน.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในแผนแม่บทฯ ได้ระบุรายละเอียดของแผนที่จะดำเนินการ เช่น ในหัวข้อ 3.4.6 แผนงานให้กำหนดพื้นที่รับน้ำรองติดกัน และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือตลอดจนสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชนในวงกว้างหลายพื้นที่ ประกอบกับมีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่มีลักษณะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นการวางผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 วรรค 2 แต่ในคดีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯ และกยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ได้ดำเนินการหรือมีแผนที่จะจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนการจัดทำแผนแม่บทฯ แต่อย่างใด จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

              

ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติในการที่จะดำเนินการต่างๆ ตามแผนแม่บทฯ หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจริงจะต้องมีการใช้พื้นที่ที่เป็นป่าไม้และที่ดินซึ่งประชาชนอยู่อาศัยรวมทั้งใช้ประกอบอาชีพ ดังนั้นทำให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งให้องค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

               

โดยแม้ว่าทีโออาร์ดังกล่าวจะกำหนดให้เอกชนผู้รับจ้างทำหน้าที่ศึกษาด้านต่างๆ และจัดให้มีรับฟังความเห็นของประชาชน

               

แต่ผลอาจเบี่ยงเบนหรืออาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเอกชนผู้รับจ้างดังกล่าวเป็นผู้ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและก่อสร้างกับรัฐไปแล้ว ซึ่งจะเป็นปกติวิสัยในทางธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะคำนึงผลกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ จึงอาจพยายามให้ผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในลักษณะที่ให้มีการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เป็นที่ไม่มั่นใจในความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายที่กำหนดให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 อีกด้วย

               

การที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 กำหนด ข้อกำหนดทีโออาร์ให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 แม้ว่าขณะยื่นฟ้องจนถึงระหว่างที่ศาลมีคำพิพากษา จะยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนผู้ที่จะมาเป็นคู่สัญญาและยังไม่มีการออกแบบ รวมทั้งการก่อสร้างจริง ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน แต่เมื่อมีข้อกำหนดทีโออาร์ไว้ชัดแจ้งว่า ให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นที่เล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นแล้วย่อมเกิดการกระทำที่ถือว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่อย่างแน่แท้ โดยที่โครงการดังกล่าวถือได้ว่ามีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับรัฐบาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้แล้ว หากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงเป็นกรณีที่ศาลจะมีคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามกฎหมาย

               

จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ 67 วรรค 2 ด้วยการนำแผนแม่บทฯไปดำเนินการจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสิทธิชุมชนก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (โมดูล)

               

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นายศรีสุวรรณ ผู้ฟ้อง ได้เดินทางมาฟังคำสั่ง ส่วนนายกรัฐมนตรี และกยน.กับพวกผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้เดินทางมา คงมีเพียง ร.ท.นราชูวงศ์ โลกะกะลิน และ ว่าที่ร.ต.ปริญญา ฐานะทานต์ไท อัยการผู้แทนในการต่อสู้คดี เดินทางมาฟังคำพิพากษา และมีนายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) พร้อมคณะรวมทั้งตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์

               

ด้านนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนพอใจในคำพิพากษาทั้งหมด เพราะว่าศาลก็ได้ชี้เป็นประเด็นเรื่องสิทธิในการฟ้องของสมาคมและชาวบ้านทั้ง 45 คน มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญคุ้มครอง ส่วนประเด็นใหญ่คือ แผนการบริหารจัดการน้ำ ศาลมีคำวินิจฉัยชัดเจนว่ากระบวนการจัดทำและการนำแผนบริหารจัดการน้ำมาใช้เป็นการไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นหลักคำพิพากษากำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้ง 4 ดำเนินการตามรัฐธรรมนุญ มาตรา 57 วรรค 2 เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 โดยต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ ก่อนที่จะไปเซ็นสัญญากับผู้จัดจ้างและผู้ประมูลงานทั้งหมด

              

 นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดคาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับรัฐบาลขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลเขียนชัดเจนว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมของรัฐธรรมนูญ โดยทางสมาคมกำหนดทิศทางว่า จะเอาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช เนื่องจากรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหาร กนอช. และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล กบอ. และผู้บริหารสูงสุดของสำนักนายกฯ ซึ่งมีเจตนารมณ์ขัดแย้งรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และตรงกับกฎหมาย พรบ. ของ ปปช. ซึ่งในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เวลา 11.00 น. ทางสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองต่อ ปปช. ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ส่วนการอุทธรณ์นั้นก็เป็นสิทธิที่ผู้ฟ้องจะสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในระยะเวลา 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากรัฐบาลยื่นอุทธรณ์ ทางสมาคมฯก็จะยื่นเรื่องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้

               

ด้านนายวิทยา กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินการต่อจากนี้อยู่ที่คณะผู้บริหาร ซึ่งจะได้เสนอแนวทางให้รัฐดำเนินการตามคำพิพากษาศาล โดยประเด็นเร่งด่วนคือ เรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบศึกษา โดยมีตัวแทนภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาผลกระทบ

               

ขณะที่ อัยการผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระบุว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีจะพิจารณาดำเนินการตามคำพิพากษา ส่วนจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่อยู่ที่คู่ความจะพิจารณา

               

อย่างไรก็ตาม คดีนี้นายตรีทศ เจ้าของสำนวน และนายวินัย รุ่งรักสกุล องค์คณะ เป็นเสียงข้างน้อยที่มีความเห็นแย้งในเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย ในเรื่องสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องที่ 2-45 ว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้อง และประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 แต่ตุลาการเสียงข้างน้อยทั้งสอง ยังคงเห็นด้วยกับเสียงใหญ่ ที่ควรมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยหน่วยงานหรือผู้ที่มีความเป็นกลางก่อนจะมีการจ้างออกแบบและก่อสร้างแต่ละแผนงาน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์