วันนี้(25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) กล่าวก่อนการประชุม ครม. ถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ภายใต้วงเงินกู้ 3.4 แสนล้านบาท ว่า ความคืบหน้าการดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาหลังได้รับรายชื่อ 4 กลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน คือ 1.ด้านกฎหมายหรือระเบียบทางราชการ 2.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ด้านเทคนิค โดยบริษัทเอกชนสามารถยืนราคาที่เสนอมาได้เป็นเวลา 180 วัน นับจากวันที่ 3 พ.ค.2556 ตามข้อกำหนดที่ได้มายื่นซองราคาจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สามารถร่างสัญญาฯได้เสร็จทันภายใน 3 เดือน จากทั้งหมด 9 แผนงาน(โมดูล) จำนวน 10 โครงการ รวม 9 สัญญา ซึ่งตนมอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ส่วนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น มี 2 ประเภท
คือ 1.บริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่ช่วยบริหารและตรวจกำกับแบบก่อนการก่อสร้าง (พีเอ็มอีซี) และ 2.บริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่คุมการก่อสร้างและให้คำแนะนำเรื่องการตรวจรับแบบการก่อสร้างช่วงเริ่มการก่อสร้าง(พีเอสซี) รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึงมีนายธงทอง เป็นประธาน เพื่อเข้ามาตรวจสอบแบบการก่อสร้างและเทคนิคต่างๆควบคู่กับบริษัทที่ปรึกษา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน และเมื่อทำรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์)แล้วเสร็จสิ้น จะถูกนำมาแจกให้กับสื่อมวลชนและบริษัทเอกชนที่มายื่นขอการจัดจ้างฯ ทั้งนี้จะเปิดให้บริษัทจากต่างประเทศมายื่นได้ แต่ต้องมีการรับรองหลักฐานยืนว่าเป็นบริษัทจากประเทศนั้นๆจริงจากสถานเอกอัครราชทูต และมีประวัติการทำการจริง ซึ่งทีโออาร์นี้จะเน้นด้านเทคนิคให้แต่ละบริษัทที่เข้ามารู้บทบาทหน้าที่ในแต่ละโครงการที่ได้รับเข้าไปดูแล สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นนั้น บริษัทเอกชนที่เข้ามายื่นทีโออาร์จะต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาได้ทุกแผนงาน
โดยในแต่ละแผนงานต้องมีบริษัทที่ปรึกษา 3 ด้าน คือ 1.การบริหารงบประมาณการก่อสร้าง 2.การตรวจทานแบบการก่อสร้าง และ 3.การตรวจรับแบบการก่อสร้าง ทั้งนี้ แต่ละบริษัทไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาซ้ำกันใน 3 ด้านในแต่ละแผนงาน(โมดูล)ได้ เพื่อป้องกันการทุจริต
ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านการก่อสร้างฟลัดเวย์ทั้งหมดและการก่อสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง นายปลอดประสพ กล่าวว่า
ต้องเปิดทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วระหว่างที่ดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา สำหรับการที่นักวิชาการเสนอให้มีการขุดลอกคูคลองที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนการก่อสร้างฟลัดเวย์นั้น ตนมองว่าสภาพคู่คลองในไทยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง จึงขัดกับแนวทางการก่อสร้างโครงการนี้ของรัฐบาลที่ต้องการเลี่ยงการผันน้ำผ่านเมือง ดูจากการศึกษาได้จากเมืองหลักในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว และเมืองโอซาก้า ของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่มีการผันน้ำผ่านเมืองเป็นต้นแบบ.