ถวิลเล็งหาช่องทางสู้-ธงทองปัดปูแกล้ง

ถวิลเล็งหาช่องทางสู้-ธงทองปัดปูแกล้ง

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวว่า ตนได้รับทราบเรื่องแล้ว แต่จะขอดูรายละเอียดที่ชัดเจนในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ตนยังติดใจเหตุผลของการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางในกรณีของตน แต่รัฐบาลกลับไม่ยื่นอุทธรณ์สำหรับกรณีของนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะอ้างว่า เป็นเพราะนายพีรพลเกษียณอายุราชการไปแล้วก็คงไม่ได้ ทั้งนี้ ตนขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดและอาจจะพิจารณาดำเนินการในช่องทางอื่นต่อไป


เมื่อถามว่า นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีตำแหน่งและผลตอบแทนเท่าเทียม แต่มีหน้าที่แตกต่างกันนั้น นายถวิล กล่าวว่า ไม่ควรอ้างเช่นนี้ หรือการพูดแบบนี้แสดงว่าในอนาคตจะมีการออกคำสั่งโยกย้ายเหมือนกับกรณีของตนอีกใช่หรือไม่

"ธงทอง"ยัน"นายกฯ" ยื่นอุทธรณ์มีสิทธิ-ปัดกลั่นแกล้ง

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมกลั่นกรองให้ความเห็นกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับนายถวิล แถลงว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลข หมายเลขแดง ที่847/2556 ระหว่างนายถวิล ผู้ฟ้องคดี กับนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว เห็นว่า กรณีมีประเด็นที่สามารถอุทธรณ์

เพื่อหักล้างเหตุผลได้ หากสำนักนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลของศาลปกครองกลางดังกล่าว และจากการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อัยการอาวุโส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เห็นว่า นายกรัฐมนตรีสมควรใช้สิทธิอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้
 
เนื่องจากกรณีนี้ยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ยังต้องการความชัดเจนโดยการชี้ขาดจากศาลสูงเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารงานภาครัฐ


คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางอาจก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินทั้งระบบ ในระนาบต่างๆ โดยรวม เพราะหากถือลักษณะงานมาเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการชี้ความเท่าเทียมกันของระดับตำแหน่งแล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานบุคคลอย่างยิ่ง

นายธงทอง กล่าวต่อว่า หากยึดแนวทางตามคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจะไม่สามารถโอนย้ายข้าราชการในระดับเดียวกันจากตำแหน่งที่เป็น Active Position ไปยังตำแหน่งที่เป็น Inactive Position ได้เลย เนื่องจากจะถือเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโอนย้ายตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ หรือหากมีการนำประเด็นนี้ไปเทียบเคียงกับการบริหารงานในระดับกระทรวง จะเห็นว่ามีตำแหน่งงานที่มีอำนาจหน้าที่ หรือมีบทบาท มีระดับความท้าทายที่ต่างกันเช่นกัน อันจะทำให้ฝ่ายบริหารไม่อาจโอนย้ายผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีไปเป็นผู้ตรวจราชการ หรือตำแหน่งใดๆ ที่แม้มีระดับเดียวกันแต่มีหน้าที่แตกต่างกันได้เลย

ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นระดับ11 กับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ถือเป็นตำแหน่งที่ค่าของงานที่มีการประเมินของสำนักงาน กพ.ที่เท่ากัน

เงินเดือนค่าตอบแทน และผลประโยชน์ต่างๆ เป็นค่าตอบแทนตามกฎหมายที่เหมือนกัน
“ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวนายกรัฐมนตรีจึงเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯที่เห็นเป็นการสมควรที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เป็นการเฉพาะคดีนี้เท่านั้น แต่เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานและเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวมต่อไปในอนาคตให้มีความชัดเจนต่อไป และการยื่นอุทธรณ์ยังเป็นการใช้สิทธิทางศาลของนายรัฐมนตรี ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง

โดยมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ในเมื่อยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ยังต้องการความชัดเจน โดยการชี้ขาดจากศาลสูงเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารงานภาครัฐต่อไป” นายธงทอง กล่าว

ปลัดสำนักนายกฯ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเด็นการเปรียบเทียบกับกรณีของนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาซึ่งศาลปกครองกลางได้มีการวางหลักในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้นั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแตกต่างกัน โดยนายพีรพลได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว การอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ไม่ว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินเช่นไร ย่อมไม่เกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ซึ่งแตกต่างจากกรณีนี้ที่หากไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและประโยชน์สาธารณะในภาพรวมได้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์